svasdssvasds

หมอธีระวัฒน์ เผย 7 ความแปลก "ฝีดาษลิง" ในยุคปลายโควิด แนะเฝ้าติดตามใกล้ชิด

หมอธีระวัฒน์ เผย 7 ความแปลก "ฝีดาษลิง" ในยุคปลายโควิด แนะเฝ้าติดตามใกล้ชิด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เผย 7 ความแปลก "ฝีดาษลิง" ในยุคปลายโควิด ย้ำยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แนะต้องไม่ทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ การรุกล้ำป่า ล่าสัตว์ป่า

 จากการนำเสนอข่าวการแพร่ระบาดของ "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) โรคระบาดที่สามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ จากรายงานข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก กรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน รวมเป็น 7 คน สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน

 ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ประเด็น ความแปลกของฝีดาษลิงในยุคปลายโควิด โดยระบุว่า 

• น่าจะเป็นครั้งแรกที่เป็นการรุกล้ำของโรคฝีดาษลิง ที่หลุดออกจากทวีป แอฟริกา (Benin, Cameroon, the Central African Republic, the Democratic Republic of the Congo, Gabon, Ghana (identified in animals only), Ivory Coast, Liberia, Nigeria, the Republic of the Congo, Sierra Leone, and South Sudan) และกระจายไปอยู่ในหลายประเทศ ที่ไม่ได้เป็นถิ่นฐานต้นกำเนิด ในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นการติดต่อเระหว่างคนในชุมชนเองแล้ว

• เหตุการณ์ในลักษณะนี้มีมาอยู่บ้าง ในปี 2018 และ 2019 ที่ พบคนที่ติดเชื้อฝีดาษลิง จากไนจีเรียที่เดินทางไปประเทศอังกฤษและสิงคโปร์แต่ไม่ได้กระจายไปทั่ว อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ตั้งศูนย์ฉุกเฉิน รับมือ ฝีดาษลิง พบระบาด 15 ประเทศ ผู้ป่วยทะลุ 100 ราย

• ฝีดาษลิงโรคติดต่อจากสัตว์ แพทย์เตือน พบไม่บ่อยแต่อันตรายถึงแก่ชีวิต

• ขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดจากการผันตัวของไวรัสหรือเกิดขึ้นจากปัจจัยของมนุษย์ ลักษณะของไวรัสที่พบในปี 2022 ยังตกอยู่ในกลุ่มก้อน ที่ใกล้ชิดกับไวรัสในแอฟริกาตะวันตก (West African clade) และไวรัสที่พบในประเทศโปรตุเกส ใน 2022 ยังอยู่ในลักษณะที่ใกล้กัน กับไวรัสในปี 2018 2019 ดังข้างต้น และยังไม่สามารถยืนยันว่าเป็นปัจจัยของไวรัสที่จะสามารถอธิบายการแพร่

 ปัจจัยของมนุษย์ ยังคงไม่ชัดเจนว่า ทำไมจึงเอื้อกับการกระจายไปได้มากกว่า 10 ประเทศในเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา แม้ว่าความสามารถในการแพร่ จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการแพร่โดยการสัมผัสใกล้ชิด ระหว่างคนสู่คน การกระจาย ทางฝอยละอองน้ำลาย ไอจาม ทางเพศสัมพันธ์ (จากเพศเดียวกัน และต่างเพศ) และการสัมผัสกับเชื้อ ที่ผื่นแผลผิวหนังของคนป่วย และเชื้อที่เกาะติดอยู่กับเสื้อผ้า เครื่องใช้ของคนติดเชื้อ และการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยที่ต้นตอ คือลิงและต่อติดมายังสัตว์ฟันแทะเช่นหนู กระรอกกระแต และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ

ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันในพื้นที่นอกบริเวณต้นตอ จะเป็นการแพร่จากคนสู่คนมากกว่า

• ข้อดีของฝีดาษลิง ที่เราจะสามารถระงับจำกัดการแพร่ได้ค่อนข้างเร็ว อยู่ที่ เชื้อจะแพร่ต่อเมื่อคนติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้ว (ระยะฟักตัวอยู่ในระหว่างหนึ่งถึงสองอาทิตย์นานได้ถึงสามอาทิตย์)

 ดังนั้นคนที่ติดเชื้อจะรู้ตัว และคนรอบข้างจะสามารถสังเกตได้ จากอาการไม่สบายของคนติดเชื้อที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรง จากไข้ ปวดกล้ามเนื้อปวดหัว ปวดหลัง พร้อมกับมีต่อมน้ำเหลืองโต และเกิดผื่นตุ่มหนองตามผิวหนังที่หน้าแขนมือและลำตัวเป็นที่สังเกตได้ง่าย

 

• แม้ว่าระยะเวลาของโรคกว่าที่จะหายนานถึงประมาณสองถึงสี่อาทิตย์แต่อัตราเสียชีวิตยังถือว่าต่ำมากคือ <1% ในประเทศที่มีการดูแลทางการแพทย์ดี ในปัจจุบัน

• คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปในประเทศไทยและเคยได้รับวัคซีนฝีดาษไข้ทรพิษ (น่าจะจำได้ ว่าจะมีการขุดเป็นแผลถลอกที่ผิวหนังที่ต้นแขนและหยดวัคซีนลงไป โดยอาจจะยังพอมองเห็นแผลเป็นจางๆอยู่) อาจจะยังมีภูมิป้องกันฝีดาษลิงได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นไป ภูมิจะหายไปหรือไม่

(ประเทศไทยหยุดการให้วัคซีนไข้ทรพิษในปี 2523)

ทั้งนี้ วัคซีนที่มีการพัฒนาใหม่(MVA-BN) และยาที่มีในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองในปี 2019 และ 2022 ตามลำดับยังไม่เป็นที่แพร่หลายและยาที่ใช้เป็นเพียงเพื่อระงับการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น

ส่วนวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่เคยใช้ในสมัยก่อนอาจจะไม่ได้เป็นทางเลือกเนื่องจากถ้ามีการแพ้จะเกิดมีสมองอักเสบและอัตราเสียชีวิตจากการแพ้สูงถึง 50%

ทั้งนี้สถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่สามารถระบุได้ว่าจำเป็นต้องมีการใช้วัคซีนในประชาชนทั่วไปหรือไม่เนื่องจากการกระจายของเชื้อยังเป็นกระจุกเท่านั้น

• ข้อดีของการที่มีโควิดก็คือ การป้องกันตัวจะเป็นในลักษณะเหมือนกันทุกประการไม่ว่าการใส่หน้ากากล้างมือ ไม่สบายกักตัวแยกห่าง

สถานการณ์ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และตอกย้ำความสำคัญที่ต้องไม่ทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ การรุกล้ำป่า ล่าสัตว์ป่า

และความสำคัญที่ต้องมีระบบในการเฝ้าติดตามโรคที่เกิดขึ้นในมนุษย์โดยรวดเร็วที่สุดเพื่อการควบคุมรักษาและป้องกันได้ทันท่วงที

 

ที่มา : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

related