หลัง ราชกิจจาฯ ประกาศเรื่อง “คาร์ซีท” ทำสังคมตั้งข้อสงสัย ล่าสุดกรมขนส่งฯ ตอบปม บอก ตำรวจเป็นคนจับปรับ ส่วนขนส่งฯ ดูแค่ให้รถติดตั้งเข็มขัดนิรภัยให้ถูกต้อง พร้อมตีความกฎหมายคาดเข็มขัดนิรภัยแทนก็ได้
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เด็กไม่เกิน 6 ปี สูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องนั่งคาร์ซีท ถ้าไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท มีผลใช้บังคับในอีก 120 วัน หรือเริ่มใช้ 5 ก.ย. นี้
สำหรับประเทศไทยมีการกำกับดูแลเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยของตัวรถ อุปกรณ์และส่วนควบของรถที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้รถยนต์ทุกชนิดต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบรัดหน้าตักและรั้งพาดไหล่ (Three-point belt) หรือแบบรัดหน้าตัก (Lap belt) สำหรับคนขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่ง ซึ่งสอดคล้องกับการบังคับใช้ พ.ร.บ. จราจรทางบกดังกล่าว
โดยยกเว้นรถบางประเภทไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย เช่น รถสองแถว และรถโดยสารประจำทางในเขตเมือง ซึ่งรถที่ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยก็ได้ยกเว้นการคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับที่นั่งที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยด้วย
คาร์ซีท ตำรวจจับ-ปรับ แต่แค่คาดเข็มขัดนิรภัยเดิมในรถก็ไม่โดนแล้ว
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การบังคับใช้คาร์ซีท อยู่ในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522
โดยเนื้อหาเกี่ยวกับคาร์ซีทจะอยู่ในมาตรา 123 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนบนรถจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์ และสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี จะกำหนดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งไม่ได้บังคับเด็ดขาดว่าจะต้องใช้เพียงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีท เท่านั้น ในการป้องกันอันตรายสำหรับเด็ก
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า นอกจากติดตั้งคาร์ซีทแล้วยังสามารถใช้วิธีการอื่น ๆ เช่น จัดหาที่นั่งสำหรับเด็กให้เด็กสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งในรถยนต์ได้ หรืออาจใช้วิธีการป้องกันอื่น ๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด เพื่อให้เด็กมีความปลอดภัยในการโดยสาร
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ คาร์ซีท
“ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการประชุมหารือ กับนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมการขนส่งทางบกจะนำปัญหาและข้อห่วงใยของประชาชน เกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่าย เข้าร่วมหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณากรณีการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ไม่สร้างภาระให้กับประชาชนที่ยังไม่มีความพร้อมในการจัดหาคาร์ซีท” นายจิรุตม์ กล่าว
นายจิรุตม์ ย้ำว่า แต่ยังคงหลักการให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ. จราจรทางบกดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความปรารถนาดี ห่วงใยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมีเจตนารมณ์ที่จะลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุและยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เพื่อลดการบาดเจ็บ และการสูญเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีเหตุฉุกเฉิน จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน