ชวนไขข้อสงสัย ทำไมถึงไม่เอาสายไฟลงดินให้หมด ? ทั้ง ๆ ที่มันทำให้เมืองสวยกว่า สบายตากว่า แต่ทำไมทั่วโลกก็ยังมีสายไฟหลงเหลือบนท้องฟ้าให้เห็นอยู่
สายไฟบนเสาไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับเมืองและหมู่บ้านมานับตั้งแต่เราเริ่มมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเราเองก็คุ้นชินกับมันมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยช่วงหลัง ๆ ราว 15-20 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการนำสายไฟบางส่วนลงใต้ดิน เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม ไม่รกรุงรังเหมือนแต่ก่อน
การที่สายไฟอยู่บนเสาแบบนี้ มีทั้งความเสี่ยงตั้งแต่ เสาโดนรถชนหัก กระรอกวิ่งบนสายไฟ ต้นไม้เกี่ยวสายไฟขาด เป็นต้น
ในสหรัฐฯ เองก็มีการตั้งคำถามแบบนี้เช่นกันว่า ทำไมถึงไม่เอาสายไฟลงดินให้หมด ? ซึ่งคำตอบของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นคำ ๆ เดียวสั้น ๆ คือ เงิน
เอาสายไฟลงดินไม่ถูก
ในปี 2545 รัฐนอร์ธแคโรไลนา ประสบพายุน้ำแข็ง ทำให้ต้นไม้ล้มทับสายไฟขาด ส่งผลให้ประชาชนราว 2 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ ด้านหน่วยงานที่ดูแลเรื่องไฟฟ้าของเมืองจึงพิจารณาว่าหากจะนำสายไฟลงดินทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ?
ซึ่งจากการหารือกับผู้ผลิตไฟฟ้า 3 รายในรัฐ พบว่า งบประมาณที่ใช้นั้น อภิมหาแพง ของแพงสุด ๆ
งบประมาณที่ต้องใช้คือ 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งเกินกว่างบที่ได้รับจัดสรรรายปีของรัฐ โดยใช้เวลาประมาณ 25 ปี จึงจะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นเป็น 2 เท่า หากเอกชนยอมลงทุนเอง
โดยเงิน 1.4 ล้านล้าน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินที่ประเทศไทยตั้งไว้ในปี 2564 ที่ 3.3 ล้านล้านบาท
แพงกว่าแถมอายุสั้นกว่าด้วย
มีการประมาณกันว่า สายไฟฟ้าใต้ดินที่เพิ่งติดตั้งใหม่จะมีอายุการใช้งานราว 30-40 ปี แต่โครงสร้างของสายไฟฟ้าบนเสา อยู่ได้ยาวนานถึง 60-70 ปี
นอกจากนี้ความเสี่ยงของสายไฟใต้ดินก็มีโอกาสที่ท่อสอดสายไฟจะเสียหายจากการขยับตัวของหน้าดินจากการกัดเซาะของน้ำ เหตุการณ์น้ำท่วมและการสั่นสะเทือนจากการใช้งานพื้นถนน ทำให้งบประมาณในการดูแลรักษาสายไฟใต้ดินสูงกว่าสายไฟบนดิน
สำหรับประเทศไทยเอง เมื่อปี 2564 การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้รายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ประจำปี 2563 ครอบคลุม พื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2567 รวม 8 แผน
ในปี 2563 กฟน.มีแผนการเบิกจ่ายจำนวนเงิน 3,866.121 ล้านบาท โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 2,312.608 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 59.82 ของแผนการเบิกจ่าย
กฟน. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา 16.2 กิโลเมตร, โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท 24.4 กิโลเมตร และโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท และบางส่วนของโครงการนนทรี 8 กิโลเมตร โดยยังมีแผนงานและโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกรวมระยะทาง 187.5 กิโลเมตร
ขณะเดียวกัน เสาไฟฟ้าในประเทศไทยก็ยังมีความซับซ้อนขึ้นมาอีกคือ เสาไฟไม่ได้มีแค่สายไฟ แต่มีทั้งสายสื่อสาร สายอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ซึ่งถูกโยงมาทั้งแบบถูกกฎหมายและแอบนำมาพาด ดังนั้นการนำสายไฟลงดินของไทยจึงมีอุปสรรค์อยู่มาก
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสายไฟ
แพง-แก้ยาก แต่คุ้มค่า ?
ปัญหาหนึ่งที่เมื่อนำสายไฟฟ้าลงดินที่ต้องพบเจอ คือ คนไม่รู้ว่าอะไรอยู่ใต้พื้นที่เขาเดินบ้าง อีกหน่วยงานมาเจาะ เจาะผิดไฟดับทั้งถนน ดังนั้นการนำสายไฟฟ้าลงดินทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและพูดคุยกับทุกหน่วยงานทั้งฝั่งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ให้บริการโทรคมนาคม
นั่นหมายความว่าหากรัฐวางแผนดี สร้างโครงสร้างพื้นฐาน วางท่อให้สามารถใช้งานได้ทั้ง ไฟฟ้าและโทรคมนาคม ในการเจาะถนนเพียงครั้งเดียว ก็จะทำให้สามารถอก้ไขปัญหาทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้
แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความคุ้มค่าด้วย
หากรัฐบาลทุ่มเงินหลักร้อยล้านเพื่อนำสายไฟลงดินในพื้นที่ชนบทที่คนอยู่หลักร้อย และยังไม่มีแผนพัฒนาที่จะเอาศูนย์ราชการ ห้างฯ ธุรกิจ มาลงก็จะเกิดคำถามถึงความคุ้มค่าของโครงการนั้นว่าเหมาะสมหรือไม่ ? เพราะงบก้อนเดียวกันสามารถนำไปพัฒนาด้านการศึกษา-โทรคมนาคม ได้มากกว่าแค่ความสวยงาม
แต่ขณะเดียวกันหากแผนเดียวกันมาอยู่ในเมืองที่มีความหนาแน่น มีกิจกรรมทางธุรกิจสูง การนำสายไฟลงดินจะทำให้ย่านเศรษฐกิจนั้นมีโอกาสเติบโตขึ้นมากกว่างบประมาณที่ลงไป ก็ย่อมคุ้มค่าทั้งในมุมมองของภาครัฐและภาคประชาชน เช่นกัน