บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนทยอยวางจำหน่าย “ทุเรียนไทย” เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แม้ปีนี้ทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนช้ากว่าปกติและราคาสูงขึ้น ขณะที่ยอดส่งออก 1 ก.พ.-2 พ.ค. 65 ทำเงินแล้วราว 12,000 บาท
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ทุเรียนจากสวนในไทยจะถูกเก็บเกี่ยวและส่งออกด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำสู่ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจว ไป๋อวิ๋นในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน และกระจายไปยังทุกภูมิภาคของจีนอย่างรวดเร็ว
หวงเหม่ยเสีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ประจำกว่างซี เผยว่าร้านค้าของบริษัทได้รับทุเรียน 100 กล่อง ซึ่งถูกกระจายสู่ร้านสะดวกซื้อในท้องถิ่นและขายให้ลูกค้าขาจรจนหมดอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องกังวลแม้ราคาจะสูงขึ้นกว่าปีก่อน
ทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ครองตำแหน่งผลไม้นำเข้า “ดาวเด่น” และปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีนี้ โดยการนำเข้าทุเรียนสดในปี 2021 สูงกว่าในปี 2017 ราว 4 เท่า ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย รวมถึงมีกว่างตง กว่างซี และฉงชิ่ง เป็นแหล่งนำเข้าหลัก
นิศาชล ไทยทอง หรือไท่ลู่ลู่ หญิงไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในหนานหนิง และทำธุรกิจนำเข้าทุเรียนจากสวนในไทยมาขายในจีนจนมีกลุ่มลูกค้าในมือ เผยว่าเมื่อก่อนคนจีนรู้จักแต่ทุเรียนหมอนทอง แต่ตอนนี้เริ่มรู้จักทุเรียนพันธุ์อื่นๆ กันมากขึ้น ทั้งกระดุมทอง ก้านยาว และพวงมณี
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ด้านเหว่ยพ่าน พ่อค้าไลฟ์สดขายของในกว่างซี จับมือทำธุรกิจกับนิศาชลมานานหลายปี ส่วนปีนี้ทั้งสองนำเข้าทุเรียนไทยสู่กว่างโจว คุนหมิง และเมืองอื่นๆ ทางเครื่องบิน ซึ่งใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ทำให้ทุเรียนยังคงสดใหม่เปลือกยังเป็นสีเขียวเงางามดูน่าซื้อไปรับประทาน
ปัจจุบันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและห้างสรรพสินค้าในจีนวางจำหน่ายทุเรียนกันแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขนส่งทางเครื่องบินเช่นกัน โดยบริษัทไทยหลายแห่งเริ่มขนส่งทุเรียนทางเครื่องบิน แม้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 35-40 บาทในปีก่อน เป็นราว 100 บาทต่อกิโลกรัมในปีนี้
ทั้งนี้ ช่องทางขนส่งทุเรียนไทยสู่จีนนั้นหลากหลาย นอกจากเครื่องบินแล้วยังมีรถบรรทุกที่วิ่งเข้าจีนผ่านเมืองผิงเสียงของกว่างซี หรือเรือที่แล่นจากท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือชินโจวของกว่างซีและท่าเรือหนานซาของกว่างโจว
นายชลธี นุ่มหนู สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ยอดการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีน สะสมตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ – 2 พฤษภาคม 2565 ส่งไปแล้วกว่า 142,000 ตัน โดยการคาดการณ์ผลผลิตทุเรียนในปีนี้ จะอยู่ที่ราว 720,000 ตัน จากเดิม 750,000 ตัน
สำหรับสัดส่วนทุเรียน แบ่งเป็น 3 แบบ คือ ส่งออก 70% ,แปรรูป 10% และขายในประเทศ 20% ในส่วนที่ขายในประเทศส่วนใหญ่เป็นทุเรียนที่ขนาดไม่เป็นไปตามที่ตลาดส่งออกต้องการ
นายชลธี ระบุว่า แม้ทุเรียนที่ขนาดไม่ได้มาตรฐาน แต่เนื่องจากความต้องการในจีนสูง จึงเป็นโอกาสของชาวสวนไทยในการส่งออกมากขึ้น
สำหรับมูลค่าการส่งออก ช่วง 1 กุมภาพันธ์ – 2 พฤษภาคม 2565 ราคาประเมินไว้อยู่ที่รับซื้อเฉลี่ย กก.ละ 120 บาท โดยประมาณ(อาจมีการปรับเปลี่ยนตามราคาตลาด) รวมเม็ดเงินจากการส่งออกผลไม้ ประมาณ 12,000 ล้านบาท