สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่าย "สลากดิจิทัล" ช่วงวันที่ 3-10 พ.ค. 2565 ผ่านทางเว็บไซต์ www.glo.or.th เพื่อรองรับการจำหน่ายสลากฯ งวดวันที่ 16 มิ.ย. 2565
วันนี้ (2 พ.ค. 65) พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แถลง ณ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถึงโครงการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ "สลากดิจิทัล" ที่จะประเดิมงวดแรกในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ว่า จะเปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล ช่วงวันที่ 3-10 พ.ค. 2565 ผ่านทางเว็บไซต์ www.glo.or.th โดยคุณสมบัติจะต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายรายย่อยทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค หรือผู้ซื้อจองล่วงหน้าที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้ว
เมื่อสำนักงานฯ พิจารณาคุณสมบัติแล้ว จะดำเนินการจัดทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล เบื้องต้นสัญญา 1 ปี และจะได้รับสลาก 5 เล่ม ตามสัญญานี้สัญญาเดียวเท่านั้น ซึ่งจะอยู่ในระบบจําหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มของสํานักงานฯ ทั้งหมด เพื่อทำการจำหน่ายผ่านแอปฯ เป๋าตังและถุงเงิน ของธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม หากถึงกำหนดในการเปิดรับสมัครเบื้องต้นแล้วยังได้จำนวนตัวแทนสลากดิจิทัลไม่ครบตามที่กำหนดไว้ สำนักงานฯ จะพิจารณาเปิดรับสมัครเพิ่มจากกลุ่มผู้สมัครลงทะเบียนซื้อ-จองล่วงหน้าปี 2565
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
พ.ท.หนุน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจำหน่ายสลากฯ ผ่านแพลตฟอร์ม เป็นเพียงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเท่านั้น แต่รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายยังคงเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่จำหน่ายผ่านบุคคลถึงบุคคล นั่นคือ เป็นประเภทไม่สมทบเงินรางวัล และเป็นการจำหน่ายผ่านระบบตัวแทนจำหน่ายเช่นเดิม โดยการสแกนสลากเข้าระบบแพลตฟอร์ม
ส่วนสลากฯ ฉบับจริง จะเก็บไว้ที่สำนักงานสลากฯ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ในการจ่ายเงินรางวัล ซึ่งยังคงรูปแบบเดิมเช่นเดียวกัน โดยใช้สลากกินแบ่งรัฐบาลแบบใบ (ฉบับจริง) เป็นหลักฐานในการขอรับเงินรางวัลของผู้ถูกรางวัล หรือโอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทยโดยจะมีค่าธรรมเนียม 1%
สำหรับข้อดีของการจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มของสำนักงานฯ นั้น ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ กล่าวว่า ผู้ซื้อสามารถซื้อสลากได้ในราคา 80 บาท มีสลากให้เลือกซื้อเลขได้มากขึ้น มีช่องทางที่สะดวกและเชื่อถือได้ เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชันของภาครัฐที่มีความปลอดภัย สลากที่ซื้อก็มีการบันทึกข้อมูลไว้ แสดงสิทธิในตัวสลาก ไม่ต้องกังวลหากสลากหาย หรือการเรียกร้องสิทธิในตัวสลาก เป็นการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันตามวิถีดิจิทัลยุคใหม่ และลดความเสี่ยงในการสัมผัสจับเงินสดและตัวสลากตามวิถีใหม่ด้วย
ในส่วนของผู้ขาย มีช่องทางในการขายเพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการขาย ซึ่งจากเดิมที่อาจจะขายบนแผงหรือเดินเร่ขาย มาเป็นขายบนแพลตฟอร์มซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย เนื่องจากอัตราในการเห็น (eyeballs) เพิ่มมากขึ้น ก็จะมีโอกาสถูกเลือกซื้อมากขึ้นกว่าการวางขายแค่บนแผงของตัวเอง รวมถึงมีระยะเวลาการขายยาวนานมากขึ้น (06.00 - 23.00) ทุกวัน จนถึงก่อน 14.00 น. ของวันออกรางวัล และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค (ผู้ซื้อ) ตามวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันด้วย
พ.ท.หนุน กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการจำหน่ายสลากฯผ่านแพลตฟอร์มจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากดิจิทัล นี้ เป็นหนึ่งในมาตรการที่สำนักงานสลากฯ มุ่งหมายจะใช้ในการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา ประกอบกับมาตรการอื่น ๆ ได้แก่ โครงการสลาก 80 ซึ่งขณะนี้ เปิดให้บริการแล้ว 209 จุด ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคกลาง และกำลังขยายไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก รวมถึงภาคเนือ และภาคใต้
คาดว่าจะครบทุกภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม 2565 ส่วนโครงการลงทะเบียนผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าฯ ที่มีผู้สมัครเข้ามาทั้งรายเก่าและรายใหม่จำนวนกว่า 1 ล้านราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยืนยันการเป็นผู้ขายจริง คาดว่าต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกระยะหนึ่ง สำหรับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่
มาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม ประจำปี 2565 โดยระยะแรก จะรับฟังความคิดเห็น 2 รูปแบบ ได้แก่ สลากตัวเลข 3 หลัก และสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก หรือแบบที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าจะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นได้กลางปีนี้