หลังจากเปิดใช้งาน รถไฟ ลาว-จีน เป็นการเปิดโอกาสให้กับผลิตผลทางการเกษตรของไทย ด้วยระยะเวลาที่รวดเร็วในการขนส่งและต้นทุนที่ถูกลง ล่าสุด ไทยส่งทุเรียน 425 ตัน มูลค่า 75 ล้าน ไปจีนแล้ว หวังลดผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด-ราคาตกต่ำ
ปกติแล้วการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน คือ ส่งผ่านเครื่องบิน แต่เนื่องจากพื้นที่และน้ำหนักบรรทุกที่จำกัด ทำให้ราคาขนส่งสูง ขณะเดียวกันผลผลิตทางการเกษตร ก็จำเป็นต้องแข่งกับเวลาเพื่อให้ทันต่อคุณภาพที่อร่อยและไม่เน่าเสียเมื่อถึงมือลูกค้า ดังนั้นการขนส่งทางรถไฟจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีในการขนส่งสินค้าจำนวนมากและราคาไม่สูงจนเกินไป
หลังจากเปิดให้บริการรถไฟ ลาว-จีน ก็เป็นโอกาสให้สินค้าทางการเกษตรไทยได้ไปตีตลาดจีน โดยล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จัดรถไฟขบวนพิเศษ จากมาบตาพุด จังหวัดระยอง ถึงจังหวัดหนองคาย และขนส่งต่อไปยังสถานีท่านาแล้ง ใน สปป.ลาว จากนั้นเปลี่ยนการขนส่งไปบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จากสถานีเวียงจันทร์ใต้ ไปยังปลายทางประเทศจีน ในโครงการขนส่งผลไม้ (ทุเรียน) ส่งออกทางรถไฟไปจีน
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ก่อนส่งล็อตใหญ่ 425 ตัน มีการทดลองส่งมาแล้ว
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้สนับสนุน กลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า ทดลองเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าทางรถไฟ ไปยังศูนย์กระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟสายใต้ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ระบบราง โดยมีบริษัท ไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด นำร่องขนส่งสินค้าบนแคร่แบบเปลือย จำนวน 10 แคร่ และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างโมเดิร์นเทรด โลตัส) ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยตู้สินค้าประเภทคอนเทนเนอร์อีก 10 แคร่ รวมทั้ง บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด นำร่องทดลองขนส่งตู้สินค้าผลไม้ ทุเรียน และมะพร้าวน้ำหอม บรรจุในคอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ จนประสบผลสำเร็จมาแล้วเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565
การส่งออกทุเรียนล็อตล่าสุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 25 เม.ย. 65 โดยการรถไฟฯ ให้การสนับสนุน บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด ในการขนส่งทุเรียนส่งออกทางรถไฟ จำนวน 25 ตู้ จำนวน 425 ตัน มูลค่า 75 ล้านบาท ไปสู่ประเทศจีน โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิพร้อมติดตั้งเครื่องทำความเย็นในตัว
การขนส่งทุเรียนภายใต้พิธีสารไทย-จีนล็อตนี้ ใช้เวลาเพียงวันครึ่งนับแต่ออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ผ่านพิธีการสินค้าผ่านแดนจนถึงด่านโมฮ่านร่นเวลาได้เร็วกว่าเดิมเกินเท่าตัวเมื่อเทียบกับการทดสอบเมื่อ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา
การนำส่งผลไม้ในครั้งนี้ เป็นผลไม้มาจากแหล่งผลิตในพื้นที่ ภาคตะวันออกจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ตรงสู่ประเทศจีนได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผลไม้ล้นตลาด และที่สำคัญยังสามารถลดระยะเวลาการเดินทาง ลดการสัมผัสเชื้อโรค ประหยัดต้นทุนการขนส่ง และรักษาสภาพสินค้าส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานของคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กล่าวว่า การส่งทุเรียนครั้งนี้ เป็นการขนส่งระบบผสมผสาน “ราง-รถ” โดยรถบรรทุกคอนเทนเนอร์รุ่นใหม่บรรทุกทุเรียนที่ผ่านการตรวจสอบโรคพืชไม่มีทุเรียนอ่อนและปลอดการปนเปื้อนโควิดเดินทางจากภาคตะวันอออกถึงจังหวัดหนองคายข้ามแม่น้ำโขงที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่1 ไปถ่ายตู้ที่ท่าบกท่านาแล้ง ก่อนลำเลียงไปขึ้นแคร่รถไฟที่สถานีเวียงจันทน์ใต้แล้วเดินทางไปยังสถานีรถไฟนาเตยในแขวงหลวงน้ำทา ก่อนยกขึ้นรถบรรทุกคอนเทนเนอร์เดินทางต่อไปด่านบ่อเต็นข้ามพรมแดน “ลาว-จีน” ไปตรวจโรคพืชและโควิดที่ด่านโมฮ่านในมณฑลยูนนาน
ทั้งนี้ ในระยะแรกจะเริ่มการขนส่งทุเรียนทางรถไฟไปจีนก่อนจำนวน 25 ตู้ เริ่มออกเดินทางวันที่ 25 เมษายน 2565 จากมาบตาพุด ถึงสถานีหนองคายวันที่ 26 เมษายน 2565 เพื่อขนส่งต่อไปยังสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว และเชื่อมการขนส่งไปยังเส้นทางรถไฟจีน-ลาว สู่จุดหมายปลายทางที่ประเทศจีน และหลังจากนั้นจะมีการทยอยขนส่งทุเรียนทางรถไฟอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ส่งทุเรียนไปนำร่องแล้ว เตรียมส่งผลไม้อย่างอื่นเพิ่ม
ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) ระบุว่า จากความสำเร็จในการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน จะขยายไปสู่การขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น มังคุด ลำไย ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล มะม่วง เป็นต้น เพื่อเร่งสร้างรายได้เข้าประเทศ