สรุปผลการตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม. เดิม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และเติมโจทย์ให้กับผู้ว่าฯ คนต่อไป ซึ่งเป็นรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ทำร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ (UDDC) โดยเป็นการตรวจการบ้านอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทุกปัญหาของ กทม.
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) จัดทำรายงาน “ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม. เดิม เติมโจทย์ผู้ว่าฯ ใหม่”
และได้มีการนำเสนอรายงานดังกล่าว โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ (UDDC) และ ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมีผลสรุปการตรวจการบ้านทั้ง 9 ด้าน ดังต่อไปนี้
1. การบ้าน : ผังเมือง
สภาพปัญหา
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ได้นำเสนอรายงานการตรวจการบ้านในด้านผังเมืองว่า กรุงเทพควรมีระบบผังเมืองสองระดับ คือ ผังระดับเมือง และผังพัฒนาระดับย่าน ดังเช่นมหานครชั้นนำของโลก อาทิ แวนคูเวอร์ , เมลเบิร์น , ฟุกุโอกะ เป็นต้น
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม.เดิม
ในส่วนของผังเมืองรวมในระดับเมือง ที่ผ่านมา มีการดำเนินการมาแล้วหลายฉบับ แต่สำหรับผังพัฒนาระดับย่าน ยังเป็นเพียงกรอบการทำงาน เพื่อให้หน่วยงานของ กทม. ของบประมาณในโครงการต่างๆ แต่ยังไม่เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนรวม ทำให้ยังไม่เกิดแผนการพัฒนาในระดับย่านอย่างชัดเจน
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่
โดยได้มีการเสนอแนะว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป ต้องทำผังเมืองระดับย่านให้เป็น “ธรรมนูญของท้องถิ่น” เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แก้ปัญหาแบบเดิม ผลลัพธ์ก็เหมือนเดิม ! กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนด้วยวิธีคิดใหม่ๆ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองที่คนไม่เท่ากัน
เจาะลึกวิธีคิดสกลธี ภัททิยกุล จะทำให้กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ ได้อย่างไร ?
2. การบ้าน : พื้นที่สีเขียว
สภาพปัญหา
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียว 9 ตรม. ต่อคน โดย กทม. ระบุว่า มีพื้นที่สีเขียว 7.6 ตร.ม ต่อคน ซึ่งนอกจากน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ยังอาจเป็นการคำนวณพื้นที่สีเขียวใน กทม. ที่สูงกว่าความเป็นจริง ! อันเนื่องมาจากการนิยามของ กทม. ไม่สอดคล้องตามฐานขององค์การอนามัยโลก และ กทม. คำนวณพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อประชาชกรเฉพาะที่มีทะเบียนราษฎร์เท่านั้น
อีกทั้งพื้นที่สีเขียวใน กทม. มีการกระจุกอยู่กลางเมือง ในขณะที่ 23 เขต (จาก 50 เขต) ไม่มีพื้นที่สีเขียว และระยะทางเฉลี่ยที่คนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุด คือ 4.5 กม. ซึ่งมีระยะทางไกลกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 9 เท่า
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม. เดิม
กทม. ได้ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 9 ตร.ม. ต่อคน ภายในปี 2575 ซึ่งจากข้อมูลที่ กทม. ระบุ สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว แต่ปัญหาก็คือข้อมูลดังกล่าว อาจเป็นการคำนวณพื้นที่สีเขียวของ กทม. ที่สูงกว่าความเป็นจริง
และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ มีความเหลื่อมล้ำในการใช้งบประมาณ เพราะมีการทุ่มงบฯ ให้กับโครงการใหญ่ในโซนกลางเมือง แต่งบฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโซนอื่นๆ กลับมีน้อย
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่
ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ควรทำพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานอย่างเมืองใหญ่ และกระจายให้ทั่วถึงทุกเขต โดยการใช้ประโยชน์จากที่ดินรกร้าง และพัฒนาพื้นที่สีเขียวในแบบภาคีพัฒนา ให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนรวม
3. การบ้าน : การจัดการขยะ
สภาพปัญหา
ดร. สุเมธ องกิตติกุล ได้นำเสนอรายงานในหัวข้อการจัดการขยะว่า แม้ขยะมูลฝอยใน กทม. ลดลง แต่จำนวนขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกกลับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้น้อย โดยมีการนำขยะมารีไซเคิลเพียง 30 % ของขยะทั้งหมด
โดย 80 % ของขยะ กทม. ที่ต้องกำจัด ได้มีการขนย้ายไปยังจังหวัดอื่นๆ อาทิ จากอ่อนนุชไปฉะเชิงเทรา จากหนองแขมและสายไหม ไปนครปฐม
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดขยะของ กทม. ก็อยู่ในระดับที่สูง ปี 2557 – 2563 อยู่ที่ 6 – 7 พันล้านต่อปี หรือ 8 % ของงบประมาณ กทม.
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม. เดิม
ในการจัดเก็บ “ขยะต้นทาง” กทม. สื่อสารไม่ทั่วถึง ไม่เข้าใจพฤติกรรมประชาชน ทให้ได้รับความร่วมมือในการคัดแยกขยะจากต้นทางน้อย
ในส่วนของการจัดการขยะ “กลางทาง” ถึงแม้ กทม.จะพยายามในการจัดการกับปัญหาลักลอบทิ้งขยะ และการจัดการขยะนอกตารางเวลาเก็บแล้ว แต่การลักลอบทิ้งขยะริมทางเท้า และการทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลองยังเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป
ส่วนการจัดการขยะปลายทาง กทม. ยังเน้นการฝังกลบ และปัญหากลิ่นรบกวนจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ก็ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่
ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ต้องใช้ข้อมูลรอบด้าน และแก้ปัญหาที่ระดับชุมชน พัฒนาโครงการพื้นฐานการจัดการขยะ ให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยใช้เทคโนโลยีและสร้างแรงจูงใจ
4. การจราจรและความปลอดภัย
สภาพปัญหา
ในด้านการจราจรนั้น บนท้องถนนยังประสบปัญหาการจราจรติดขัด รถเคลื่อนตัวได้ช้า อัตราความเร็วเฉลี่ยของรถใน กทม. ชั้นใน อยู่ที่ 20 กม./ ชม. ส่วนรถไฟฟ้าในบางพื้นที่มีระยะการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าเกินกว่า 1 กม. ส่งผลให้การใช้รถบนท้องถนน ยังคงมีปริมาณที่หนาแน่น
ส่วนในด้านความปลอดภัย แม้ กทม. จะมีการเพิ่มกล้องวงจรปิด 4,834 ตัว แต่สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนใน กทม. กลับไม่ได้ลดลง ยังคงอยู่ที่ 800 คนต่อปี อีกทั้งอุบัติเหตุของคนเดินเท้ามีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปี 2559 – 2563 โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม.เดิม
ที่ผ่านมา กทม. มีการสร้างทางเลือกให้กับการเดินทางเพิ่มขึ้น จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง โครงการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม และส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ
แต่การพัฒนาทางเท้า ป้ายรถเมล์ ยังไม่ครอบคลุม ส่วนมากยังกระจุกอยู่ในหัวเมืองชั้นใน และมีงบประมาณด้านความปลอดภัยที่ต่ำ โดยงบทางเท้า จักรยาน ร้อยละ 5 ของงบโยธา และสัญญาณไฟแบบกดปุ่มบริเวณทางข้าม มีการติดตั้งเพิ่มเพียง 12 จุด ในช่วง ปี 2558 – 2563
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่
ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ ต้องสร้างความปลอดภัยให้คนเดินทางและจักรยาน อีกทั้งต้องลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะและจัดการการจอดรถบนถนนสาธารณะ และการกำหนดพื้นที่ห้ามใช้รถยนต์อย่างถาวร โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน
5. การบ้าน : การจัดการและบรรเทาสาธารณภัย
5.1 ฝุ่น PM 2.5
สภาพปัญหา
เกิดทุกช่วงของเดือนธันวาคม - มีนาคม ในทุกปี
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม.เดิม
งบฉีดน้ำ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด และสิ้นเปลือง อีกทั้งการแจกหน้ากาก N95 ก็ไม่ต่อเนื่องทั่วถึง
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่
ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ต้องตรวจจับ ห้ามรถยนต์ปล่อยควันดำ ส่งเสริมขนส่งมวลชน ทางเท้า และจักรยาน สำรวจจุดเสี่ยง เพื่อรับมือโลกร้อน
5.2 น้ำท่วมฉับพลัน
สภาพปัญหา
ปี 2564 น้ำทะเลหนุนเกินกว่าที่ กทม. คาดการณ์ไว้ 50 – 60 ซม.
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม.เดิม
แม้จุดเสี่ยงน้ำท่วมจะลดลง แต่ยังมีปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ฟันหลอ ที่ไม่ได้สร้างคันกั้นน้ำถาวร
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่
ต้องทำแนวคันกั้นน้ำถาวร ในพื้นที่ฟันหลอ และทำระบบเตือนภัย วางแผนเตรียมการอพยพ
5.3 อัคคีภัย
สภาพปัญหา
กทม.เกิดเหตุอัคนีภัยเฉลี่ย 2,000 ครั้ง ต่อปี และมีผู้เสียชีวิต 75 รายใน 5 ปีล่าสุด โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิง กทม. มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบดูแล
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม. เดิม
อุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะด้านอัคคีภัยชำรุด ไม่พร้อมใช้ ขาดบุคลากร อีกทั้งพื้นที่ที่รับผิดชอบต่อหนึ่งสถานี ยังกว้างเกินไป
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่
ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องเพิ่มจำนวนสถานีดับเพลิง จัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติม
6 การบ้าน : จัดระเบียบทางเท้า หาบเร่ แผงลอย
สภาพปัญหา
กทม.ได้มีการลดพื้นที่หาบเร่แผงลอยลง แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ใหม่ให้เพียงพอได้ มาตรการเยียวยาพ่อค้าแม่ค้าไม่ตอบโจทย์ โดย กทม. จัดหาสถานที่ถาวรเพื่อทำการค้ารองรับผู้ค้า 10,809 ราย แต่มีผู้ค้าเข้าร่วมพียง 985 ราย เพราะทำเลไม่เหมาะสม
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ กทม.เดิม
แม่ค้าพ่อค้ารวมตัวขอเปิดพื้นที่ใหม่ แต่หลักเกณฑ์ของ กทม.อนุมัติยาก และเกณฑ์ที่ใช้ยังไม่เหมาะสม อีกทั้งระยะเวลาพิจารณายังนาน 2 – 3 ปี
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่
ผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ ควรทดลองเปิดพื้นที่ทำการค้าชั่วคราว ก่อนฟังความคิดเห็น ด้วยรูปแบบการจัดการ “รายพื้นที่” และต้องมีการกำกับดูแลร่วมกับผู้ค้า ใช้ระบบต่อสิทธิการค้าแทนการปรับเพียงอย่างเดียว รวมถึงจัดพื้นที่ถาวรเพิ่มเติม ในทำเลที่เหมาะสม
7. การบ้าน การฝึกทักษะวิชาชีพ
สภาพปัญหา
คนว่างงานใน กทม. มีอัตราเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 มีผู้ว่างงาน 1.4 แสนคน ก้าวกระโดดจากปี 2562 ที่มีผู้ว่างงาน 4.6 หมื่นคน รายได้เฉลี่ยของ คน กทม. ในปี 2564 อยู่ที่ 1.9 หมื่นบาทต่อคน ขณะที่ปี 2562 รายได้เฉลี่ยคน กทม.อยู่ที่ 2.1 หมื่นบาทต่อคน
กทม. ได้มีแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2556 – 2575 รายจ่ายอยู่ที่ 174 ล้านบาทต่อปี มีโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่ง , ศูนย์ฝึกทักษะอาชีพมากกว่า 15 แห่ง และเปิดสอนมากกว่า 100 หลักสูตร
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ คนเดิม
รายงานระบุว่า หลักสูตรทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะดิจิทัล ที่ตลาดต้องการ ยังมีน้อย โดยหลักสูตรส่วนใหญ่จะเน้นอาชีพเสริม หรืองานไม่จำกัดวุฒิ และ กทม. ยังขาดการติดตามผลงานและประเมินผลลัพธ์
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ ใหม่
ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ จะต้องพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ธุรกิจเป้าหมาย กำหนดเป้าหมายและติดตามประเมินผล การฝึกอาชีพอย่างจริงจัง ควบคุมคุณภาพหลักสูตรการฝึกอบรม และทำโครงการนำร่อง ช่วยกลุ่มเป้าหมายที่ด้อยโอกาส ให้ฝึกทักษะ ให้เงินเดือนระหว่างเรียน
8. การบ้าน : การศึกษา
สภาพปัญหา
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวว่า ในเรื่องการดูแลการศึกษาของ กทม. นั้น จะเป็นในลักษณะทำโครงการชั่วคราว ไม่มีการประเมินผล เป็นการสั่งงานจากเบื้องบน ลงไปทุกเขต
อีกทั้ง กทม. ยังไม่สามารถแก้ปัญหากระจายตัวของครู โรงเรียนบางแห่ง ครูขาดแคลน แต่บางแห่งครูกลับเกินอัตรา
โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กทม. ได้มีการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่มากกว่า 50 % เป็นงบประมาณด้านบุคลากร
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ คนเดิม
เป็นการลอกการบ้านเก่า ไม่มีนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และยังเป็นการทำการบ้านผิดข้อ
เพิ่มโรงเรียนมัธยมในสังกัด กทม. ทั้งๆ ที่มีโรงเรียนมัธยมสังกัดอื่นจำนวนมาก อีกทั้งไม่รู้คะแนนการบ้านตัวเอง
เพราะ กทม. ไม่มีข้อมูลนักเรียนรายบุคคล และข้อมูลสถานภาพโรงเรียน
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่
ควรแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ กทม. ที่มีประสบการณ์และเข้าใจมาดูแลด้านการศึกษา มีการจัดการระบบข้อมูล ลดความเหลื่อมล้ำ และมีนโยบายด้านการศึกษาที่ตอบโจทย์นักเรียนใน กทม.
9. การบ้าน : รักษาพยาบาล
สภาพปัญหา
กทม. มีโรงพยาบาลเยอะ แต่ความเหลื่อมล้ำสูง คนรายได้น้อย เข้าถึงบริการสาธารณสุขยาก ทั้งๆ ที่งบสำนักการแพทย์และอนามัยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของ กทม.
ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ คนเดิม
โดยรายงานดังกล่าวได้ยกกรณีการแพร่ระบาดโควิด-19 มาประเมิน กทม. แล้วพบปัญหาว่า อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ของ กทม. ไม่เพียงพอ มีความร่วมมือระหว่าง กทม. กับกระทรวงสาธารณสุขน้อย ทำให้ประชาชนต้องรอคิวตรวจ รอเข้าศูนย์พักคอย และสถานพยาบาลเป็นเวลานาน
เติมโจทย์ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่
ผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ ต้องเร่งขยายศูนย์บริการสาธารณสุขในชุมชน เน้นส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค หาข้อมูล และเฝ้าระวังเชิงรุก เพื่อรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ รวมถึงวางกลไกการประสานงาน
ข้อเสนอแนะ การเตรียมความพร้อม และการจัดการเพื่อแก้ปัญหา กทม. ในภาพรวม
ปัญหา กทม. จะยากขึ้น
คาดว่าในอนาคตปัญหาของ กทม. จะซับซ้อนและยากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก
ต้องบริหารจัดการแบบเครือข่าย
การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและท้าทาย ต้องการการปรึกษาหารือ การสร้างความมีส่วนร่วมในการทำงานกับภาคีต่างๆ
ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้หลากหลายตามปัญหา
กทม. ต้องเพิ่มการปรึกษาหารือกับสาธารณะให้มากขึ้น เพิ่มบทบาทให้มากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นผู้ให้บริการ (service provider) ผู้กำหนดนโยบาย (policymaker) ผู้กำกับดูแล (regulator)
แต่ต้องเป็นผู้ซื้อ service purchaser ผู้เชิญหารือ (convenor) ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) และผู้ให้ความชอบธรรม (legitimizer) แก่ภาคีภาคสังคมให้มากขึ้น
ส่วนการจะเลือกเล่นบทบาทไหน ก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาที่ต้องแก้ไข ทรัพยากรและความพร้อมของแต่ละภาคีที่เกี่ยวข้อง
ขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายอำนาจ
ต้องขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายอำนาจ เพื่อให้ กทม. และ อปท. สามารถแก้ปัญหา และให้บริการประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา :
เสวนา "ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ เดิม เติมโจทย์ให้ผู้ว่าฯ ใหม่"
การประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวิน และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่า กทม. คนใหม่
เอกสารประกอบการนำเสนอ การประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวิน และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่า กทม. คนใหม่