อนุทิน เตรียมเสนอ เพิ่ม มาตรการเปิดประเทศในการประชุม ศบค. พรุ่งนี้ ส่วนกรณีที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. เสนอยกเลิกใส่หน้ากากอนามัย ภายใน 90 วัน อนุทิน ย้ำ หากผู้สมัครผู้ว่า กทม.คนดังกล่าวได้เป็นผู้ว่า กทม. ก็มีสิทธิเสนอมาตรการยกเลิกใส่หน้ากากอนามัยได้
วันที่ 21 เม.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงการประชุม ศบค. วันพรุ่งนี้ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ เพื่อให้ศบค.พิจารณา ในมาตรการเปิดกระเทศ
ซึ่งในส่วนการเดินทางเข้าประเทศ ยืนยันสามารถรับมือได้ มีความเข้มงวดในระบบที่วางไว้ หากสามารถควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อและผู้เสียชีวิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับมือได้จะทำให้ประเทศเดินหน้าในเรื่องต่างๆได้
นายอนุทิน ระบุเพิ่มเติม ขณะนี้การติดเชื้อหากไม่รับรวมATK จะมีผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 2 หมื่นราย ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศ มีกาาตรวจ RT-PCR และมีการกักตัวในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกก่อนผลออก ในจำนวนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจะพบผู้ติดเชื้อไม่เกิน100 ต่อวัน จำนวนนี้เป็นคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เช็กเลย! ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโควิด-19 "กลุ่มสีเขียว" กรณีใช้สิทธิบัตรทอง
"อนุทิน" รับยาต้านโควิด-19 "แพ็กซ์โลดวิด" 1.5 ล้านเม็ด จากไฟเซอร์
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ ลงมติ ลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโควิด เหลือ 5 วัน
ขณะเดียวกัน หลังจากที่ไทยมีการผ่อนคลายมาตรการในกลุ่มนักท่องเที่ยว เช่น การตรวจRT-PCR 1 ครั้ง เมื่อถึงประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ก็พบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาจำนวนมากรวมถึงนักธุรกิจต่างประเทศ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทย อยากให้เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ได้มีการเปิดประเทศ ขณะเดียวกันไทย ยังมีความเข้มงวดการตรวจคัดกรองเชื้อกว่าในหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะต้องบริหารจัดการควบคุมการติดเชื้อที่นำไปสู่อาการหนักและเสียชีวิตได้ เพื่อระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ ทางรัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะเปิดประเทศให้มากขึ้นและผ่อนคลายมาตรการต่างๆ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากไทยมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงเปิดประเทศมากขึ้น จะมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกเข้ามาเพิ่มหรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า ทุกอย่างมีปัจจัยเสี่ยง แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารปัจจัยเสี่ยงอย่างไร ถ้าไม่อยากให้มีปัจจัยเสี่ยงก็ต้องล็อกดาวน์ แต่ประชาชนจะรับไม่ไหว หากมีการล็อกดาวน์อีกครั้ง
ส่วนกรณีที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. เสนอการไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยภายใน 90 วัน นายอนุทิน ระบุว่า ขณะนั้นจะมีศบค.อยู่หรือไม่ ผู้ว่ากทม.ก็เป็นกรรมการท่านหนึ่งใน ศบค. อาจจะมีการนำเสนอในเรื่องดังกล่าวได้ หากผู้สมัครรายนั้นได้เป็นผู้ว่า กทม. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็อาจจะเห็นด้วยหรือมีข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาการ แต่คงไม่น่ามีปัญหา ใครคิดอะไรที่เป็นประโยชน์ทุกฝ่ายก็น้อมรับในข้อเสนอนั้น และมาหารือกัน
ซึ่งเรื่องของหน้ากากอนามัย ต้องดูว่า นอกจากการป้องกันโควิด-19 และยังช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆได้อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจลดลง อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลหากไปสู่โรคประจำถิ่นทุกคนมีภูมิคุ้มกันเป็นที่เรียบร้อยผู้ที่ได้รับเชื้อก็จะไม่มีอาการหนัก หากไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 ซึ่งการใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนร่วม ส่วนพื้นที่ ที่บังคับให้ใส่หน้ากากอนามัย เป็นเรื่องของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณา ออกกฎเกณฑ์ในการบังคับใช้