svasdssvasds

TDRI ตรวจการบ้าน 9 ด้าน ประเมินผลงาน อัศวิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.

TDRI ตรวจการบ้าน 9 ด้าน ประเมินผลงาน อัศวิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.

TDRI ประเมินผลงาน 9 ด้าน ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. จากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นเวลากว่า 5 ปี

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ประเมินผลงาน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. 9 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านผังเมือง

2. ด้านการจราจรและความปลอดภัย

3. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

4. ด้านการจัดการขยะมูลฝอย

5. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

6. การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย

7. การฝึกทักษะอาชีพ

8. ด้านการศึกษา

9. ด้านการรักษาพยาบาล

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

บทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

1. ด้านผังเมือง

กทม. ได้จัดทำผังเมืองรวมและบังคับใช้ไปแล้วหลายฉบับ ซึ่งสะท้อนความพยายามในการพัฒนากรุงเทพฯ ในหลายด้าน เช่น การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่อาคาร การส่งเสริมให้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาเข้าถึงได้และพื้นที่กักเก็บน้ำ (แก้มลิง) ในโครงการเอกชนผ่านมาตรการส่งเสริม 

อย่างไรก็ตาม กทม. ยังไม่เคยบังคับใช้ผังเมืองเฉพาะ ซึ่งได้จัดจ้างให้สถาบันการศึกษาหรือบริษัทที่ปรึกษาจัดทำสำหรับบางย่านไปแล้ว สาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากกฎหมายผังเมืองฉบับเดิม กำหนดให้การบังคับใช้ผังเมืองเฉพาะจำเป็นต้องมีการตราเป็นพระราชบัญญัติซึ่งมีขั้นตอนที่ยาวนาน

ผลก็คือผังพัฒนาในระดับย่านที่ กทม. จัดทำขึ้นนั้นถูกใช้เพียงเป็นกรอบการดำเนินงานให้หน่วยงานของ กทม.ของบประมาณในการพัฒนาโครงการต่างๆ เท่านั้น เช่น โครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาและโครงการปรับปรุงทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีน ซึ่งมีที่มาจากผังอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน 2575 หรือโครงการสะพานเขียว ซึ่งมีที่มาจากผังแนวคิดพัฒนาฟื้นฟูย่านพาณิชยกรรมใจกลางเมืองปทุมวัน

ดังนั้น ผังพัฒนาระดับย่านของ กทม. จึงยังไม่ใช่ “ธรรมนูญของท้องถิ่น” เหมือนมหานครอื่นๆ ที่เป็นเสมือนข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาในย่านนั้นๆ และเป็นเครื่องมือในการต่อรอง ควบคุม หรือลดข้อขัดแย้งอันอาจเกิดจากการพัฒนา

การขาดผังพัฒนาระดับย่านที่มีผลเป็น “ธรรมนูญของท้องถิ่น” ยังส่งผลให้ประชาชน นักพัฒนา สถาบันและหน่วยงานต่างๆ ภายในย่าน สูญเสียโอกาสในการร่วมหารือเพื่อสร้างภาพอนาคตที่พึงปรารถนาของย่านของตน ซึ่งทำให้ชุมชนเมืองอ่อนแอและดำรงชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ นอกจากนี้ การพัฒนาที่ดินที่เกิดขึ้นก็เป็นไปอย่างกระจัดกระจายขาดทิศทาง เนื่องจากไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนของชุมชนในสภาเขตและสภาย่านอย่างเช่นมหานครอื่น ๆ

นอกจากนี้ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลายโครงการ ยังเกิดขึ้นจากการริเริ่มโดยรัฐบาลกลาง โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เช่น โครงการสวนคลองช่องนนทรี ซึ่งก่อให้เกิดคำถามถึงการตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ ความคุ้มค่าของงบประมาณ รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนา เนื่องจากขาดกรอบอ้างอิงจากผังพัฒนาระดับย่าน และยังทำให้เกิดคำถามต่อแนวคิดในการพัฒนาเมืองของ กทม. ในยุคของผู้ว่าฯ อัศวิน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

2. ด้านการจราจรและความปลอดภัย

ผลงานของอดีตผู้ว่าฯ กทม. อัศวินที่ผ่านมานั้นมีทั้งส่วนที่ ‘เกาถูกที่คัน’ และ ‘เกาไม่ถูกจุด’ โดยจะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง การเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของประชาชน และ สอง ความปลอดภัยในการเดินทาง

ในด้านการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของประชาชนกรุงเทพฯ ในสมัยอดีตผู้ว่าฯ อัศวินได้พัฒนาเส้นทางการเดินทางใหม่ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง โครงการเดินเรือในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม และส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ และการพัฒนาป้ายรถประจำทางโดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองหลายโครงการซึ่งช่วยกระตุ้นการเดินเท้า ทั้งการปรับปรุงทางเท้า และการนำเสาไฟฟ้าลงดินในหลายพื้นที่ และการเริ่มใช้มาตรการเพิ่มค่าธรรมเนียมการจอดรถบนถนนกว่า 66 เส้นทางในปี 2564 ซึ่งช่วยเพิ่มต้นทุนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและจูงใจให้เกิดการเดินทางในรูปแบบอื่น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เช่น หากพิจารณาตำแหน่งของสถานีขนส่งหลักอย่างรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทางจะพบว่า ยังมีหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ที่มีระยะทางในการเข้าถึงสถานีขนส่งมากกว่า 1 กิโลเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่จากถนนสายหลัก (super block)

ซึ่งทำให้ระบบขนส่งสาธารณะที่เปิดให้บริการทั้งในช่วงของอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน และช่วงก่อนหน้านั้นยังไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้ตามเป้าหมาย ดังตัวอย่างของระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ อย่างไร้รอยต่อมากขึ้น

นอกจากนี้การเข้าถึงสถานีขนส่งด้วยการเดินเท้าและการใช้จักรยานก็ยังเป็นไปได้ยากสำหรับประชาชนส่วนใหญ่  ในขณะที่การปรับปรุงป้ายรถประจำทาง ทางเท้าและการเพิ่มค่าธรรมเนียมการจอดรถบนถนน ก็ยังดำเนินการอย่างจำกัดเฉพาะในเขตเมืองชั้นในเท่านั้น

ในด้านความปลอดภัยนั้น ผลงานของกรุงเทพฯ ในสมัยอดีตผู้ว่าฯ อัศวินคือ การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแบบเชื่อมต่อศูนย์ควบคุมเพิ่มขึ้น 4,834 ตัว และเชื่อมโยงกล้องเข้าสู่ศูนย์ควบคุมทั้งหมด 42,000 ตัว รวมทั้งหมด 46,834 ตัว

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทางอย่างแท้จริง ดังเห็นได้จากสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังอยู่ในระดับทรงตัวที่ราว 800 คนต่อปี

นอกจากนี้ หากพิจารณาจำนวนอุบัติเหตุของคนเดินเท้าในช่วงปี 2559–2563 ก็พบว่ามีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าระหว่างปี 2558-2563

ที่สำคัญ กรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นมหานครที่เอื้อต่อรถยนต์มากกว่าประชาชนกลุ่มอื่นมากขึ้นทุกที  เนื่องจากประชาชนที่เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานยังคงถูกละเลย ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของงบประมาณทางเท้าและทางจักรยานในแต่ละปีคิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของงบประมาณทั้งหมดของสำนักการโยธา กรุงเทพฯ การถูกละเลยด้านความปลอดภัยนี้มีผลทำให้เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ จำนวนมาก รวมทั้งกรณีที่สะเทือนใจของ “หมอกระต่าย”

งบประมาณในการสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานในสัดส่วนที่ต่ำยังสะท้อนให้เห็นจากความคืบหน้าในการติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่มบริเวณทางข้าม ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 12 แห่งในระยะเวลา 5 ปี (จาก 214 แห่งในปี 2558 เป็น 226 แห่งในปี 2563) หรือมีการเพิ่มสัญญาณไฟแบบกดปุ่มบริเวณทางข้ามเพียงร้อยละ 0.37 ของจำนวนทางข้ามทั้งสิ้น 3,280 จุด  

ในขณะที่การติดตั้งไฟกระพริบเตือนคนข้ามถนนกลับมีจำนวนลดลงจาก 1,344 แห่งในปี 2561 เหลือเพียง 846 แห่งในปี 2563  นอกจากนี้ ยังมีการยกเลิกทั้งเลนจักรยานและการรายงานข้อมูลในเรื่องดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 2560

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

3. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นปัญหาใหญ่สำหรับมหานคร เช่น กรุงเทพฯ และจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ มากขึ้นจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

จากสถิติการเกิดสาธารณภัยในกรุงเทพฯ (ไม่รวมอุบัติเหตุจากการคมนาคมและขนส่ง) ระหว่างปี 2560–2564 โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า เกิดอัคคีภัยขึ้นถึง 2,622 ครั้งโดยทำให้มีผู้เสียชีวิต 75 คน

ในขณะที่ความถี่ในการเกิดอุทกภัยในกรุงเทพฯ ไม่สูงนัก แต่อาจสร้างความเสียหายขนาดใหญ่ดังตัวอย่างเหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” เมื่อปี 2554 ที่บางส่วนของกรุงเทพฯ  ได้รับผลกระทบ 

นอกจากนี้ ยังมีสาธารณภัยจากฝุ่น PM 2.5 ในช่วงธันวาคม - มีนาคมของทุกปี เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มักมีค่าเกินมาตรฐาน เช่น ระหว่าง 27 กันยายน 2562 ถึง 9 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นในกรุงเทพฯ จำนวน 38,803 ราย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน้าที่หนึ่งของผู้ว่าฯ กทม. ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในปีงบประมาณ 2560-2564 มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยของกรุงเทพฯ เฉลี่ย 325.31 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 0.49 ของงบประมาณทั้งหมด

โดยในช่วงของอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน กทม. ได้ใช้งบประมาณในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และยานพาหนะร้อยละ 66 ของงบประมาณดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยการจัดหารถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย การจัดหารถยนต์ปฏิบัติการกู้ภัยและช่วยชีวิตจากอาคารถล่ม และการจัดหารถจักรยานยนต์ดับเพลิง

3.1. อัคคีภัย

การป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยมีปัญหาและอุปสรรคใน 3 ประการคือ

(1) อุปกรณ์และยานพาหนะมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่พร้อมใช้งาน และขาดการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง

(2) ขาดบุคลากรปฏิบัติงานด้านอัคคีภัย โดยกรุงเทพฯ มีบุคลากรปฏิบัติงานเพียง 38 คนต่อ 1 แสนประชากร

(3) พื้นที่ความรับผิดชอบเฉลี่ยของสถานีดับเพลิงในเขตกรุงเทพฯ แต่ละแห่งกว้างมากถึง 32.68 ตารางกิโลเมตร ทำให้การเข้าถึงที่เกิดเหตุใช้เวลานาน

3.2 อุทกภัย

หลังจากเหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” เมื่อปี 2554  ได้มีโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระดับหนึ่ง โดยในช่วงของผู้ว่าฯ อัศวิน ได้มีการใช้งบประมาณเพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วมไปแล้วกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 5.7 ของงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพฯ ในช่วงปี 2560-2564 

ตัวอย่างโครงการที่สำคัญคือ โครงการแก้มลิง อุโมงค์ระบายน้ำ บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (water bank) และท่อเร่งระบายน้ำ (pipe jacking) ทำให้โดยภาพรวมแล้ว ปัญหาน้ำท่วมลดความรุนแรงลง โดยจากข้อมูลของ กทม. จุดที่มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมหรือน้ำท่วมสูงหากมีฝนตกปานกลางถึงหนัก ลดลงเหลือเพียง 12 จุด รวมถึงจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมลดลงเหลือเพียง 51 จุด ในปี 2564 จากเดิมที่มีจุดเสี่ยง 17 จุดและจุดเฝ้าระวัง 53 จุดในปี 2561

อย่างไรก็ตาม ในบริเวณชุมชน “ฟันหลอ” ริมน้ำที่ยังคงไม่ได้สร้างคันกั้นน้ำถาวร เช่น บริเวณสะพานซังฮี้ ยังคงมีปัญหาน้ำท่วมอยู่ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกรณีน้ำท่วมฉับพลันเมื่อมีน้ำทะเลหนุนเกินกว่าที่กรุงเทพฯคาดการณ์ไว้ 50-60 เซนติเมตร ดังเช่นในปี 2564 ซึ่งแม้จะมีการจัดทำแผนรับมือแล้ว แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบกลับไม่ได้รับการแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลันจาก กทม.

3.3. ฝุ่น PM 2.5

นอกจากเกิดจากลมพัดพามาจากพื้นที่อื่นแล้ว สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากยานยนต์บนถนน แต่ กทม. มีอำนาจหน้าที่เพียงการรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบเท่านั้น โดยไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือลงโทษผู้ก่อมลพิษ  ที่ผ่านมา กทม. ได้ใช้งบประมาณเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 327 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2561-2564) โดยใช้ 2 วิธีการหลัก คือ

(1) การฉีดน้ำที่ต้นไม้และฉีดน้ำล้างถนนเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดและสิ้นเปลืองทั้งทรัพยากร เนื่องจากสามารถจัดการได้เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ หรือ PM 10 เท่านั้น

(2) การแจกหน้ากากชนิด N95 ให้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่น PM 2.5 ที่ยังขาดความทั่วถึงและต่อเนื่อง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

4. ด้านการจัดการขยะมูลฝอย

แม้การจัดการขยะมูลฝอยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานในกรุงเทพฯ และมหานครทั่วโลก ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย  การดำเนินการในช่วงของอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน ก็น่าจะยังไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิผลในระยะยาว เนื่องจากยังขาดการสร้างส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ และขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงต่อพฤติกรรมของคนในแต่ละชุมชน การจัดการปัญหาขยะจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปนัก แม้จะมีการชูประเด็น #กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว

ในการจัดการขยะที่ “ต้นทาง” ที่ผ่านมา กทม. ใช้หลัก 3Rs (Reduce, Reuse และ Recycle)  ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้คัดแยกขยะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทางมากพอ เนื่องจากการสื่อสารยังไม่ทั่วถึง ไม่เข้าใจพฤติกรรมของประชาชน และระบบการจัดเก็บขยะครัวเรือนยังไม่รองรับขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้วอย่างชัดเจน ทั้งในด้านการกำหนดวันและเวลาในการเก็บขยะประเภทต่างๆ เป็นการเฉพาะ และการใช้ถังสำหรับรองรับขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้ว

ในส่วนของการจัดการขยะ “กลางทาง” ถึงแม้ กทม. จะพยายามในการจัดการกับปัญหาลักลอบทิ้งขยะ และการจัดการขยะนอกตารางเวลาเก็บแล้ว แต่การลักลอบทิ้งขยะริมทางเท้าและการทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลองยังเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป

สำหรับการกำจัดขยะที่ “ปลายทาง” การกำจัดขยะมูลฝอยที่สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยทั้ง 3 แห่งใน กทม.ยังเน้นการฝังกลบ และมีปัญหากลิ่นรบกวนจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชซึ่งเป็นปัญหามากว่า 2 ปีแล้ว แต่ไม่ถูกแก้ไขอย่างได้ผล

กทม. มีแผนการลดการฝังกลบขยะจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนร้อยละ 80 ให้เหลือร้อยละ 30 เมื่อ “โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม” ของศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขมขนาดแห่งละ 1,000 ตันต่อวันแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2566

ซึ่งเป็นวิธีการจัดการที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะจะช่วยเปลี่ยนการการฝังกลบขยะมาเป็นการแปลงขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้าแทน  อย่างไรก็ตาม กทม. ไม่ควรจะลืมว่าการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ในภาพรวม จะเห็นว่าแม้ว่าอดีตผู้ว่าฯ อัศวินจะมีนโยบายและโครงการจำนวนมากที่มุ่งแก้ปัญหาการจัดการขยะทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทาง แต่การดำเนินการยังไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร เนื่องจากขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้อย่างเข้าถึงและเข้าใจ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

5. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ผู้บริหาร กทม. หลายสมัยตระหนักถึงปัญหาที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ  กทม. ในสมัยอดีตผู้ว่าฯ อัศวินเองก็มีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคนให้ได้ภายในปี พ.ศ 2575 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่น่าชื่นชม

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณานโยบายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของ กทม. ในปัจจุบัน จะพบว่ายังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดและขยายความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ให้มากขึ้น

นโยบายสำคัญในการพัฒนาเมืองในมิติใหม่ทั้งระบบของ กทม. คือ “ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต” โดยกทม. ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักการฟื้นฟูโครงข่ายคลอง ถนน ทางเท้าและพื้นที่สีเขียว ให้เป็นตัวเชื่อมโยงย่านต่าง ๆ อย่างบูรณาการ เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ในส่วนของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายดังกล่าว กทม. ได้ทุ่มงบประมาณไปกับโครงการขนาดใหญ่และเมกะโปรเจกต์ 5 โครงการตั้งอยู่ใน 4 เขตของย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ซึ่งประกอบด้วยโครงการพัฒนาสวนสาธารณะ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงสวนลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 3,800 ล้านบาท และโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เขตสาทร ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 1,556 ล้านบาท 

งบประมาณของโครงการทั้งสองสูงเกินกว่าโครงการสวนสาธารณะที่ผ่านมาของ กทม. อย่างมาก ทั้งที่เขตปทุมวัน และเขตสาทรจัดเป็นเขตใจกลางเมืองที่มีมาตรฐานพื้นที่สีเขียวสูงกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของกรุงเทพฯ และมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก

ข้อมูลของสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ชี้ว่า การที่ กทม. กำหนดงบประมาณเพื่อปรับปรุงของสวนลุมพินีและสวนคลองช่องนนทรีไว้ถึง 5,356 ล้านบาท ทำให้ กทม. มีงบประมาณเหลือเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับเขตอื่น ๆ ที่เหลือทั้งหมดเพียง 20 ล้านบาท  โครงการทั้งสองจึงไม่ช่วยลดแต่กลับจะขยายความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตต่าง ๆ และทำให้ประชาชนในเขตอื่นต้องเดินทางเข้ามาใจกลางเมืองเพื่อใช้บริการสวนสาธารณะเช่นเดิม

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

6. การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย

ในภาพรวม อดีตผู้ว่าฯ อัศวิน ได้สานต่อนโยบายการจัดระเบียบทางเท้าและการลดจำนวนจุดผ่อนผันลง ในขณะที่เปิดพื้นที่ทำการค้าซึ่งได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจรเพิ่มเพียงไม่กี่แห่ง เช่น ย่านถนนข้าวสาร เยาวราช พระราม 2 อารีย์และอ่อนนุช ทำให้จุดผ่อนผันทยอยลดลงจาก 773 จุดในปี 2554 เหลืออยู่ 171 จุดในปัจจุบัน

ปัญหาก็คือ เมื่อลดจำนวนจุดผ่อนผันลงแล้ว มาตรการเยียวยาผลกระทบที่ตามมาของ กทม. ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ค้าส่วนใหญ่ที่ถูกยกเลิกพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 หมื่นราย ที่ผ่านมา กทม. ได้จัดหาสถานที่ถาวรเพื่อทำการค้าจำนวน 112 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ 10,809 ราย แต่มีผู้ค้าสนใจเข้าร่วมเพียง 985 รายเท่านั้น โดยผู้ค้าส่วนใหญ่เห็นว่า พื้นที่ที่จัดหาให้อยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะสมทำการค้าหรือไม่สามารถเข้าถึงโดยลูกค้าเดิม

ในขณะเดียวกัน การขออนุญาตเปิดพื้นที่ทำการค้าใหม่ของ กทม. ยังเผชิญอุปสรรคจากกฎระเบียบอยู่มาก โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเปิดพื้นที่ทำการค้าใหม่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้อย่างเข้มงวด เช่น ทางเท้าที่จะได้รับอนุญาตจะต้องติดกับถนนที่มี 4 ช่องจราจรขึ้นไป พื้นที่ทำการค้ามีขนาดไม่เกิน 2 ตารางเมตร  ลึกไม่เกิน 1 เมตร และเมื่อจัดแผงค้าแล้วต้องเว้นให้มีทางเท้า 2 เมตร และมีระยะห่างจากผิวจราจร 0.5 เมตร

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ พื้นที่ซึ่งเคยถูกใช้ทำการค้ามีความหลากหลายในเชิงกายภาพ เช่น ขนาดทางเท้าและช่องจราจร  นอกจากนี้ ขนาดพื้นที่แผง 2 ตารางเมตรอาจเป็นไปได้สำหรับการจำหน่ายสินค้าบางอย่าง เช่น ดอกไม้ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการจำหน่ายอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าหลักของหลายพื้นที่

หากพื้นที่ทำการค้าไม่เป็นไปตามกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ดังกล่าว การอนุญาตให้ค้าก็จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสำนักงานเขตในการพิจารณาความเหมาะสมและความเห็นชอบของคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ถนนหลายสายที่มีศักยภาพอาจสอบตกตั้งแต่ด่านแรกตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

แม้จะมีปัญหาในการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม กทม. ในสมัยอดีตผู้ว่าฯ อัศวินก็ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมประการหนึ่งคือ การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทางเท้าไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอาคาร ผู้พักอาศัย ผู้สัญจรและใช้ทางเท้าและผู้ที่ทำงานในบริเวณใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการพิจารณาเปิดพื้นที่ทำการค้าผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

7. การฝึกทักษะอาชีพ

แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (2556-2575) ได้กำหนดยุทธศาสตร์หนึ่งให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ” โดยมีโครงการอบรม สนับสนุนและพัฒนาศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพอย่างครบวงจร ซึ่งมุ่งให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้รับเข้าทำงานตรงกับความต้องการหรือผ่านมาตรฐานวิชาชีพ โครงการนี้จะใช้งบประมาณรวม 527 ล้านบาท หรือประมาณ 26 ล้านบาทต่อปี

ในปัจจุบัน กทม. มีโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่งและศูนย์ฝึกทักษะอาชีพมากกว่า 15 แห่ง ซึ่งใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ 174 ล้านบาทต่อปี และเปิดสอนหลักสูตรมากกว่า 100 หลักสูตรต่อปี โดยใช้วิทยากรทั้งจากภายในและภายนอก กทม.

จากการสัมภาษณ์ผู้เรียนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า ประชาชนมาเข้ารับการฝึกอบรมด้วยเหตุผลเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ พบปะสังสรรค์กับผู้คน หาอาชีพเสริม หรือหางานทำ คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า โครงการฝึกทักษะดังกล่าวอาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยให้ผู้เรียนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้พบปะสังสรรค์กับผู้คนหรือมีอาชีพเสริม แต่ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ว่างงานที่ต้องการหางานทำที่มีรายได้ดี

ประการแรก

ผู้ว่างงานเกือบครึ่งหนึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ในขณะที่หลักสูตรส่วนใหญ่ที่เปิดสอนในปัจจุบันน่าจะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการมีอาชีพเสริม หรือมีงานทำซึ่งไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาในการสมัครงาน

เนื่องจาก หลักสูตรส่วนใหญ่มีเนื้อหาด้านคหกรรมศาสตร์ (เช่น การทำอาหาร อาหารว่าง เบเกอรี่และขนมไทย งานบาริสต้า ตัดผม ตัดเสื้อผ้า แต่งหน้า ทำเล็บ) ด้านช่างอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น การซ่อมโทรศัพท์มือถือ ซ่อมคอมพิวเตอร์ ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ติดตั้งจานดาวเทียมและกล้องวงจรปิด) และอื่น ๆ (เช่น นวดฝ่าเท้า นวดไทย โหราศาสตร์)

ประการที่สอง

หลักสูตรที่เปิดสอนทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะดิจิทัล ยังมีอยู่น้อยมาก ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) จากประกาศรับสมัครตำแหน่งงานวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป มากกว่า 4 แสนตำแหน่งใน กทม. ในปี 2562-2563

โดยทีดีอาร์ไอพบว่า นอกจากทักษะวิชาชีพเฉพาะแล้ว ทักษะที่นายจ้างต้องการมากขึ้นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 คือทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะดิจิทัล

ประการที่สาม

การจัดการฝึกอบรมของ กทม. ในปัจจุบันยังขาดการติดตามประเมินผลลัพธ์ของผู้ผ่านหลักสูตรอย่างจริงจังและเป็นระบบว่า มีงานทำหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะหลักสูตรที่เน้นการประกอบวิชาชีพ เช่น ช่างซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ และช่างตัดผม ทั้งที่ยุทธศาสตร์ย่อย “เมืองแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ” ระบุชัดเจนว่า จะวัดสัดส่วนของผู้เข้าฝึกอบรมพัฒนาอาชีพที่ได้รับการเข้าทำงานตรงกับความต้องการ หรือการผ่านมาตรฐานวิชาชีพ

ทั้งนี้ ในปี 2563 สำนักพัฒนาสังคม โดยโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครได้จัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับผู้ที่จบการฝึกอบรมวิชาชีพจากโรงเรียนฝึกอาชีพ แต่ยังมีจำนวนจำกัดมาก ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรมาตรฐานช่างซ่อมรถยนต์ ระดับ 1 มีผู้สำเร็จการศึกษา 185 คน มีผู้เข้ารับการทดสอบ 13 คนและผ่านการทดสอบ 10 คน

ประการที่สี่

ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ครบถ้วนและกระจัดกระจาย ซึ่งทำให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ยากและมีข้อมูลไม่เพียงพอในการตัดสินใจเลือกเรียน โดยในทางปฏิบัติผู้สนใจต้องเข้าไปหาข้อมูลของโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพแต่ละแห่งเอง นอกจากนี้ ข้อมูลรายละเอียดเนื้อหาของบางหลักสูตรมีอยู่น้อยมากและล้าสมัย ซึ่งทำให้ผู้เรียนมีข้อมูลไม่เพียงพอในการตัดสินใจ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

8. ด้านการศึกษา

แนวทางในการพัฒนาการศึกษาของ กทม. ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ซึ่งกำหนดเป้าหมายด้านการศึกษา 3 ประการคือ

ประการที่ 1 การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ 

ประการที่ 2 การเพิ่มคุณภาพการศึกษา ซึ่งสะท้อนจากการยกระดับคะแนนสอบ O-NET

ประการที่ 3 การรองรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้ได้มากขึ้น  การประเมินผลงานอดีตผู้ว่าฯ อัศวินจะยึดตามเป้าหมาย 3 ประการดังกล่าว

(1) ในส่วนของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ พบว่า มีการเปิดโรงเรียนในสังกัด กทม. ที่เปิดสอนระดับมัธยมเพิ่มขึ้น 2 แห่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารวมเป็น 110 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้เปิดสอนระดับมัธยมปลายเพียง 9 แห่งเท่านั้น และยังมีอีก 11 เขตจาก 50 เขต ที่ไม่มีโรงเรียนระดับมัธยม

การขาดโรงเรียนมัธยมในสังกัด กทม. อาจมีผลทำให้จำนวนนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นลดลง โดยในปี 2563 มีนักเรียนชั้น ป.6 ในสังกัด กทม. 31,793 คน แต่ปี 2564 มีนักเรียน ม.1 ในสังกัด กทม. เพียง 12,378 คน และจากนักเรียน ม.3 ในสังกัด กทม. 10,779 คน เหลือนักเรียน ม.4 ในสังกัด กทม. เพียง 1,636 คนในช่วงเวลาเดียวกัน  

ยังไม่มีข้อมูลว่านักเรียนที่ลดลงไปอย่างมากในแต่ละช่วงชั้นนั้นไปเรียนต่อในสังกัดอื่นหรือออกจากระบบการศึกษาไปเลย เพราะไม่มีข้อมูลประชากรวัยเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และข้อมูลการให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนยากจนในกรุงเทพฯ

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่า เป้าหมายของ กทม. ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ยังดำเนินการไปได้ค่อนข้างน้อย แม้ผ่านมาเกือบครึ่งทางของแผนดังกล่าวแล้ว 

อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ครบ 12 ปีดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า กทม. ควรจะตั้งโรงเรียนมัธยมในสังกัดของตนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโรงเรียนมัธยมในสังกัดต่างๆ กว่า 270 แห่งในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว และประชากรในวัยเรียนของประเทศไทยกำลังลดลง ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องทยอยปิดโรงเรียนขนาดเล็ก

(2) ในส่วนของการรองรับเด็กพิเศษ กทม. ค่อนข้างมีความก้าวหน้า โดยมีโรงเรียนที่เปิดการจัดการศึกษาพิเศษเพิ่มขึ้นจาก128 ในปี 2560 เป็น 155 โรงเรียนในปัจจุบัน โดยสามารถรองรับเด็กได้มากกว่า 4,300 คน และมีการกำหนดอัตรากำลังครูให้ดูแลเด็กพิเศษ

(3) ในส่วนของการเพิ่มคุณภาพการศึกษา ผลการสอบ O-NET ระดับชั้น ป.6 ของนักเรียนสังกัด กทม. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีคะแนนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยประเทศในทุกวิชา แต่สำหรับระดับชั้น ม.3 กลับมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศทุกวิชา ซึ่งสะท้อนว่า เป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด กทม. น่าจะยังไม่บรรลุผลอย่างเต็มที่

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรมากที่สุดในประเทศไทย และ กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่น่าจะมีความพร้อมมากที่สุด จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายว่า กทม. ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ดังจะเห็นได้ว่า การบริหารงานการศึกษา กทม. ในช่วงอดีตผู้ว่าฯ อัศวินและในช่วงก่อนหน้านั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน และไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความเป็นอิสระที่มีอยู่อย่างที่ควรจะเป็น ดังนี้

- กทม. มักดำเนินนโยบายด้านการศึกษาคล้ายกับกระทรวงศึกษาธิการคือ การจัดทำโครงการชั่วคราวโดยไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม และมักสั่งการจากเบื้องบน (top-down) ลงไปทุกเขตและทุกโรงเรียนให้ทำโครงการเดียวกัน โดยไม่ได้พิจารณาความต้องการของโรงเรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้โรงเรียนต้องรับภาระการทำโครงการจำนวนมาก

โดยในปี 2564 มีโครงการต่างๆ มากถึง 77 โครงการ โดยหลายโครงการไม่ได้นำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีขึ้น และมีผลในการดึงเวลาของครูและนักเรียนออกจากห้องเรียน

- กทม. ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการกระจายตัวของครู โดยมีโรงเรียนที่ขาดแคลนครูอยู่ 187 แห่ง ขาดแคลนครูรวมกัน 715 ตำแหน่ง ในขณะที่มีโรงเรียนที่มีครูเกินอยู่ถึง 172 แห่ง รวม 810 ตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนปัญหาในการจัดสรรครูระหว่างโรงเรียนในสังกัด

- งบประมาณในการจัดการศึกษาของ กทม. เพิ่มขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่เกินกว่าร้อยละ 50 เป็นงบบุคลากร เช่น เงินเดือนและค่าจ้างประจำ โดยไม่พบการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือการส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่

จากการดำเนินงานด้านศึกษาของ กทม. ที่กล่าวมาแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า กทม. ในสมัยอดีตผู้ว่าฯ อัศวินยังคง “ลอกการบ้านเก่า” (ไม่มีนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา) “ทำการบ้านผิดข้อ” (มุ่งขยายโรงเรียนมัธยมในสังกัด กทม. ทั้งที่มีโรงเรียนมัธยมในสังกัดอื่นจำนวนมาก) และ “ไม่รู้คะแนนการบ้านตนเอง” (ขาดระบบข้อมูลของนักเรียนรายบุคคลและข้อมูลสถานภาพโรงเรียน)

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.

9. ด้านการรักษาพยาบาล

ความยากลำบากประการหนึ่งในการ “ตรวจการบ้าน” อดีตผู้ว่าฯ อัศวินด้านการรักษาพยาบาลคือ หน้าที่ด้านรักษาพยาบาลสำหรับ กทม. ไม่ชัดเจนนัก การที่ในกรุงเทพฯ มีสถานพยาบาลหลายประเภทและหลายสังกัด ทุกฝ่ายจึงไม่ได้คาดหวังว่า กทม. จะทำหน้าที่ดูแลด้านรักษาพยาบาลสำหรับชาวกรุงเทพฯ ทุกคน 

ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ในอดีตก็มักไม่ได้ชูนโยบายด้านนี้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง โดยเฉพาะผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งที่ไม่ได้มีนโยบายพรรค ก็ยิ่งไม่ได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจน แม้ว่าผู้ว่าฯ ที่อยู่นานมักพยายามสร้างโรงพยาบาลใหม่ๆ แต่การสร้างโรงพยาบาลใหม่ปกติก็มักใช้เวลาหลายปี  การตรวจการบ้านอดีตผู้ว่าฯ อัศวินในด้านรักษาพยาบาลจึงมีปัญหาว่าจะวัดเทียบกับอะไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากงบประมาณของ กทม. แล้ว งานด้านรักษาพยาบาลและด้านสาธารณสุขโดยรวมก็น่าจะเป็นงานสำคัญลำดับต้นๆ ของ กทม.

โดยงบประมาณของสำนักการแพทย์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงพยาบาล กทม. และของสำนักอนามัยซึ่งเป็นต้นสังกัดของศูนย์บริการสาธารณสุข อยู่ที่อันดับ 4 และ 7 ในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 โดยสองสำนักนี้ได้งบรวมกันปีละประมาณ 6,500 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 3 สำนักหลักของ กทม. อย่างสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และสำนักการระบายน้ำ

ในช่วงสองปีเศษที่ผ่านมา ทั้งโลก ประเทศไทย และ กทม. ก็เผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 และในปี 2564 ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม กทม. ก็กลายเป็นศูนย์กลางของการระบาดในระลอกที่ 3 (เชื้ออัลฟ่า) ก่อนที่มีระลอก 4 จากเชื้อเดลต้า และระลอกปัจจุบันจากเชื้อโอไมครอน การรับมือกับกับการระบาดโควิดของ กทม. จึงควรนำมาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจการบ้านอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน

เมื่อดูการระบาดในระลอก 2 ที่สมุทรสาคร จะพบว่าทั้งกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดสมุทรสาครรับทราบปัญหาการระบาดของโควิดค่อนข้างช้า ดังจะเห็นได้จากการตรวจพบผู้ติดเชื้อถึงร้อยละ 40 ของการตรวจในวันแรกๆ แต่การรับมือกับโควิดก็ทำได้อย่างรวดเร็วพอสมควร ส่วนหนึ่งเกิดจากความร่วมมือจากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและอีกหลายจังหวัดด้วย 

การระบาดระลอก 3 ในกรุงเทพฯ ก็ทราบการระบาดในชุมชนต่างๆ ช้าเช่นกัน แต่เมื่อ กทม. ได้รับทราบปัญหาแล้ว การรับมือก็ยังมีปัญหามาก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของการควบคุมโรคของ กทม. ทั้งในด้านศักยภาพในการตรวจเชิงรุกและในการสืบค้นและติดตามผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง

ซึ่งในหลายกรณีทำได้ไม่ดีเท่าในเขตชนบทที่ใช้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีจำนวนต่อประชากรมากกว่าอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) มาก  นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความร่วมมือระหว่าง กทม. กับกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำให้การควบคุมโรคไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ถึงแม้ว่ากรณีนี้อาจเป็นปัญหาที่เกิดจากทั้งสองผ่าย

แม้ว่าการมีประชากรจำนวนมากจะเป็นข้อจำกัดในการควบคุมโรคของ กทม.  แต่ในทางกลับกัน กทม. ก็มีทรัพยากรมากกว่าจังหวัดอื่นมาก จึงน่าจะอยู่ในวิสัยที่จะมีมาตรการเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือผู้กักตัวที่ช่วยเสริมมาตรการควบคุมโรค ซึ่งน่าจะช่วยให้การรับมือกับโควิดในชุมชนผู้มีรายได้น้อยได้ดีกว่าที่ผ่านมา โดยบางมาตรการ กทม. สามารถดำเนินการเองได้ ไม่ต้องรอให้รัฐบาลริเริ่มขึ้นก่อน

การระบาดของโควิดตั้งแต่ระลอก 3 เป็นต้นมา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการรับมือและช่องว่างด้านการรักษาพยาบาลใน กทม. ที่ยังคงมีปัญหาอยู่มาก ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องรอคิวตรวจ รอเข้าศูนย์พักคอยและสถานพยาบาลเป็นเวลานาน  และมีคนไม่น้อยที่ต้องไปหาโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลแทน และต่อมาก็มีมาตรการส่งผู้ติดเชื้อไปรักษาในต่างจังหวัด 

และการระบาดในระลอกปัจจุบันนั้น กทม. และ สปสช. ก็ไม่สามารถรับมือได้อย่างเพียงพอ จนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ลงทะเบียนได้ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับจนกระทั่งเวลาผ่านไปอีก 5-6 วัน

ที่มา TDRI : การประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวิน และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่

 

related