svasdssvasds

3 ยักษ์ใหญ่ "EA-MEA-JR" ผนึกกำลังสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะในไทย

3 ยักษ์ใหญ่ "EA-MEA-JR" ผนึกกำลังสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะในไทย

เตรียมพร้อมสู่อนาคตใหม่ยานยนต์ไทย 3 ยักษ์ใหญ่ "EA- MEA -JR" ผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ EV Smart Charging Station รองรับนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้มีความคล่องตัวสูงขึ้น เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่มหานครไร้มลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางแนวโน้มโลกที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโดยคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางพลังงาน หลายประเทศจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานเพื่อเป็นมิตรกับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลงทุนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่นเดียวกับไทยที่รัฐบาลตั้งเป้าพร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน แต่เมื่อมาดูโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั่วประเทศ กลับพบว่า มีจำนวนรองรับการใช้งานอยู่ไม่มากนัก

ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ส่งบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด (EMN) บริษัทย่อย ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และบมจ. เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ (JR) ใน "โครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า" (EV Smart Charging Station) เพื่อสนับสนุนความคล่องตัวให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ประเดิม 2 โครงการแรก พร้อมต่อยอดความร่วมมือยานยนต์ไฟฟ้าชนิดอื่น

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า โดยส่งเสริมการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มีความคล่องตัวสูงขึ้น จึงได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging Station) ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดย กฟน. จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการขอใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า และ JR จะเป็นผู้วางแผนและดำเนินโครงการด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทร่วมกับบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด (EMN)

3 ยักษ์ใหญ่ \"EA-MEA-JR\" ผนึกกำลังสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะในไทย "ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไร้มลพิษให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 พร้อมนโยบายสนับสนุนด้านต่างๆ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สาธารณะกระจายทั่วประเทศ" นายสมโภชน์ กล่าว

ปัจจุบัน EA Anywhere มีสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้ากว่า 430 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,800 หัวชาร์จ ตั้งแต่ระบบธรรมดา หรือ AC Charger ไปจนถึงระบบชาร์จเร็ว และทันสมัยที่สุด หรือ DC Ultra-Fast Charge ที่ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการด้วย Application "EA Anywhere" ระบบออนไลน์ที่สามารถดำเนินการทั้ง จอง จ่าย และชาร์จในคราวเดียวกัน มียอดดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 33,000 ครั้ง EA Anywhere จึงนับเป็นทั้งผู้บุกเบิก และครองความเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการอัดประจุไฟฟ้า สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ EA ที่ต้องการเป็นผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร

นายจรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู.ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) (JR) กล่าวว่า โครงการนี้ JR ทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ จัดหาและติดตั้งระบบส่ง และโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงออกแบบพัฒนาระบบอนุรักษ์พลังงานร่วมกับ บริษัท พลังงานมหานคร (EMN) ในการหาสถานที่ติดตั้งสถานีอัดจุไฟฟ้ที่หมาะสม ทั้งขนาด จำนวนและสถานที่ติดตั้งสำหรับโครงการเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

สำหรับ JR ในฐานะผู้นำในการวางระบบ ICT และไฟฟ้าของไทย มีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์มายาวนานกว่า 28 ปี ในการวางระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโปรเจคนี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม