ระลึกถึงความตายอันแสนเศร้าของ เลสลี่ จาง จากโลกนี้ ไป วัน April Fool's Day วันที่ 1 เมษายน 2003 มาดูความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นปมหนึ่งของชีวิต เขาตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ และเป็นอีกหนึ่งแรงบีบคั้นในชีวิตของเขาจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร ณ วินาทีนี้ โลกเดินไปถึงจุดไหนแล้ว ?
• เลสลี่ จาง : ชีวิต LGBTQ ยุคเก่าที่ต้องแบกรับความกดดัน
วันที่ 1 เมษายน 2003 คือวันที่โลกต้องพบกับข่าวร้าย เมื่อ เลสลี่ จาง โดดลงมาจากชั้น 24 โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ฮ่องกง ท่ามกลางความมึนงงและไม่เชื่อในเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะบางคนก็คิดว่า ...นี่คือคำโกหกในวัน April Fool's Day แต่เมื่อมีการยืนยันว่า ชายหนุ่มที่นอนบนพื้นหน้าโรงแรมคือเลสลี่ จางตัวจริง...โลก ณ เวลานั้น ...หยุดหมุน ความเศร้าโศก...และนี่คือวันที่ โลกสูญเสีย ซูเปอร์สตาร์ LGBTQ ที่น่าเศร้าที่สุดครั้งหนึ่ง
ผลงานของเลสลี่ จาง ที่สร้างชื่อไว้ให้โลกจดจำ มี อาทิ Days of Being Wild หัวใจกล้าตัดเส้นขอบฟ้า และ Happy together โลกนี้รักใครไม่ได้นอกจากเขา ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ดราม่า ส่วนภาพยนตร์สไตล์ Blockbuster ทำเงิน อย่าง โหด เลว ดี (A Better Tomorrow-1986) หรือ โปเย โปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า (A Chinese Ghost Story-1987) เขาก็ครองใจแฟนๆ ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
April Fool's Day : 1 เมษายน ความตายเลสลี่ จาง ที่ทุกคนอยากให้เป็นแค่ เรื่องโกหก
ชิลีอนุมัติกฎหมายสมรสเท่าเทียมในคู่รักเพศเดียวกันได้แล้ว
April Fool's Day ประวัติ วันโกหก 1 เมษายน 2022 "เมษาหน้าโง่"
อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่ง ชีวิตของเลสลี่ จาง กลับเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิตในยุคตั้งแต่ 1970s,1980s และ 1990s เพราะเขาเป็น LGBTQ ที่ต้องเก็บซ่อนเร้น ความเป็นตัวเองไว้ข้างใน แต่สุดท้ายเขาก็ "กล้าหาญ" ที่จะเปิดเผยความจริง ให้โลกได้ยอมรับ
เมื่อเวลาผ่านไป ในปี 1997 เลสลี่ จาง บนวัย 41 (ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต 5 ปี) เพิ่งจะประกาศว่าตัวว่าเป็นเกย์ รวมทั้งแต่งตัวเป็นผู้หญิงในการร้องเพลงบนเวทีคอนเสิร์ต แต่เรื่องเพศสภาพที่เปลี่ยนไป เขาก็ยังได้รับกำลังใจจากแฟนๆ
ส่วน คำตอบเรื่องสาเหตุการตายของเลสลี่ จาง จะยังอยู่ในเครื่องหมายคำถาม...แต่แฟนคลับของเลสลี่ จาง ต่างเชื่อว่าเขามีปัญหากับภาวะซึมเศร้า และปมของการต้องเก็บกดการเป็น LGBTQ ในยุคเมื่อ 20 ปีก่อนเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับการยอมรับเหมือนทุกวันนี้ วันที่เข็มนาฬิกาเดินมาถึงการยอมรับ เพศทางเลือก ที่มากขึ้น ทั้งการปฏิบัติ และ เรื่องของกฏหมาย
• ส่องความเท่าเทียม LGBTQ ไปถึงไหนแล้ว
นับตั้งแต่วันที่ เลสลี่ จาง จากไป สังคมโลกและสังคม LGBTQ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย โดย ปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 30 ประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
หาก ย้อนเวลากลับไปในวันที่ เลสลี่ จาง เสียชีวิตจากแรงบีบคั้นของสังคมที่ยังไม่ยอมรับ LGBTQ หรืออาจจะเป็นเพราะภาวะซึมเศร้า ก็ตามแต่ แต่ ณ เวลานั้น ณ ปี 2003 ก่อนที่เลสลี่ จาง จะเสียชีวิต มีเพียงเนเธอรแลนด์ประเทศเดียว ที่ยอมให้คู่รักเพศเดียวกัน แต่งงานกันได้ (เบลเยียม อนุญาตให้เพศเดียวกัน แต่งงานกันได้ หลังวันเสียชีวิตของเลสลี่ จาง 2 เดือน)
.
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ปี 2022 มีประเทศที่ยอมรับ การใช้ชีวิตแบบ LGBTQ ที่สามารถแต่งงานกันได้แล้ว ราวๆ 30 ประเทศ โดยชิลี เป็นประเทศล่าสุด และ ช่วงกลางปี 2022 สวิตเซอร์แลนด์ก็กำลังจะตามมา เป็นประเทศถัดไป
หนึ่งในบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดของเลสลี่ จาง ในภาพยนตร์ Happy together โลกนี้รักใครไม่ได้นอกจากเขา
Credit : Youtube Major Group
• รายชื่อประเทศ LGBTQ สมรสได้ถูกต้องตามกฎหมาย
1.เนเธอแลนด์ ,2.เบลเยียม , 3. สเปน ,4. แคนาดา , 5. แอฟริกาใต้ , 6. นอร์เวย์ , 7 สวีเดน , 8. โปรตุเกส ,9. ไอซ์แลนด์ , 10. อาร์เจนติน่า 11. เดนมาร์ก , 12. บราซิล, 13. ฝรั่งเศส , 14. อุรุกวัย , 15. นิวซีแลนด์ , 16.ลักแซมเบิร์ก ,17. สหรัฐฯ , 18. ไอร์แลนด์ , 19.โคลอมเบีย, 20.ฟินแลนด์ 21. มอลตา , 22.เยอรมนี , 23.ออสเตรเลีย , 24.ออสเตรีย, 25. ไต้หวัน, 26. เอกวาดอร์, 27. สหราชอาณาจักร , 28. คอสตาริกา , 29. ชิลี
.
อย่างไรก็ตาม ใน บางประเทศยังคงไม่ยอมรับคนข้ามเพศ หรือ LGBTQ และกำหนดให้เป็นฐานความผิดมีโทษอาญาด้วย เช่น แอลจีเรีย เซเนกัล แคเมอรูน คูเวต ลิเบีย มาเลเซีย โมร็อกโก ซีเรีย กาตาร์ เป็นต้น
.
ในบางประเทศกำหนดโทษประหารชีวิต ได้แก่ อัฟกานิสถาน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก อิหร่าน มอริเตเนีย เยเมน ซูดาน ไนจีเรีย โซมาเลีย ปากีสถาน กาตาร์ และซีเรีย
.
• สถานะ LGBTQ ในไทยมาไกล แต่ก็ยังโดนฉุดรั้งอยู่ ?
เรื่องราวของกลุ่ม LGBTQ ในสภาพความเป็นจริงทางสังคม เป็นที่ยอมรับมากขึ้นกว่าในอดีต และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากกฏระเบียบต่างๆมีการเปิดทางให้มากขึ้น อาทิ นักศึกษาสามารถแต่งกายไม่ตรงกับเพศสภาพของตนเองได้ ในแง่การผลักดันเรื่องกฎหมาย การเคลื่อนไหวสิทธิ LGBTQ ในไทย มีการผลักดันกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิการสมรสเพศเดียวกันหรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็ม 20/2564 ต่อกรณีการยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยศาลเห็นว่าลักษณะตามธรรมชาติของร่างกายชายกับหญิงอันสอดคล้องกับการตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรนั้นมีความสัมพันธ์กับการสมรสจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ เป็นเหตุให้การสมรสเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น ตลอดจนการสมรสซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งครอบครัวและให้กำเนิดบุตรนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสังคม และในประเด็นนี้ทำให้ สังคมตั้งคำถามกันเยอะ เพราะนั่นหมายความ LGBT ยังไม่มีสิทธิ หรือยังไปไม่ถึงจุดที่สังคมโลก หรือในหลายประเทศเดินไปถึง
กลับมาที่ ประเด็น ในวันแห่งความตายของ เลสลี่ จาง วัน April Fool's Day แม้ตลอดชีวิตของเขา ที่เป็น LGBTQ จะต้องทนแบกรับความกดดันจากสังคมในยุคนั้น แต่หากมองมาในวันนี้ ประเด็นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด สัญชาติใด เชื้อชาติใดต่างก็มีมากขึ้น
และนี่คือความจริงของโลก ณ เวลาปัจจุบัน นี่คือเป้าหมายของเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ และการใช้ชีวิต ที่โลกกำลังมุ่งหน้าไปหา...ทุกคนมีความเป็นคน เป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน...กรีดเลือดทุกคนในโลก มันก็ สีแดง เหมือนกัน