svasdssvasds

จีนไม่เอาถ่านหิน เดินหน้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ สู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

จีนไม่เอาถ่านหิน เดินหน้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ สู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง จึงเดินหน้าผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ล่าสุดใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาหลายแห่ง สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่เป็นแบตเตอรี่สำรองสุดพิเศษ

จีนเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง เราไปดูโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในจีน ตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 3,000 เมตร อยู่ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่นี่เปิดใช้งานหน่วยผลิตไฟฟ้า ขนาด 500,000 กิโลวัตต์ เป็นหน่วยสุดท้ายของโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าฯ ที่ตั้งอยู่สูงที่สุดของจีน

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ชื่อว่า “เหลี่ยงเหอโข่ว (Lianghekou)” ตั้งอยู่กลางแม่น้ำหย่าหลง ช่วงแคว้นปกครองตนเองกานจือ กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต มีกำลังการผลิตติดตั้งตามการออกแบบรวม 3 ล้านกิโลวัตต์

บริษัท หย่าหลง ริเวอร์ ไฮโดรเพาเวอร์ เดเวลอปเมนต์ เปิดเผยว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเหลี่ยงเหอโข่ว ใช้เงินลงทุนตามการอนุมัติ 6.65 หมื่นล้านหยวน หรือ ราว 3.48 แสนล้านบาท เริ่มต้นเดือนตุลาคม 2014 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2023

กำลังการกักเก็บของอ่างเก็บน้ำ สำหรับโรงไฟฟ้าฯ ถูกออกแบบไว้สูงสุดที่ 1.08 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณการผลิตไฟฟ้ารายปีคาดว่าจะสูงเกิน 1.1 หมื่นล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เรียกว่า เป็นการใช้พลังงานของน้ำ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยปราศจากมลพิษอย่างแท้จริง

ส่วนกลางหุบของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูรณ์ กองทัพคนงานระดมกำลังก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังน้ำฟู่คัง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งแรกในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน หลังลงมือทำงานต่อเนื่องตลอด 37 เดือน  งานเทคอนกรีตเขื่อนพลังน้ำ เสร็จสมบูรณ์ลงอย่างราบรื่น

อ่างเก็บน้ำส่วนบนและส่วนล่างของโรงไฟฟ้าพลังน้ำฟู่คังแห่งนี้ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว และคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานหน่วยผลิตไฟฟ้าหน่วยแรกได้ตามกำหนดการที่วางไว้ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2024

โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงชัน และ สลับซับซ้อน ใช้กำลังคนงานก่อสร้างมหาศาล ทำงานต่อเนื่องกันหลายปี เมื่อสร้างเสร็จแล้ว โรงไฟฟ้าฟู่คัง จะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.2 ล้านกิโลวัตต์ พร้อมด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 ตัวที่มีความจุตัวละ 300,000 กิโลวัตต์ ขณะกำลังการผลิตไฟฟ้าออกแบบรายปีจะอยู่ที่ 2.41 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยมูลค่าเงินลงทุนของโครงการรวมอยู่ที่ 8.36 พันล้านหยวน หรือ ราว 4.4 หมื่นล้านบาท

หลังก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างแหล่งจ่ายไฟของซินเจียงและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้จีน บรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แถมประหยัดการใช้ถ่านหินมาตรฐาน 165,000 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 496,000 ตันต่อปี และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ราว 1,800 ตันต่อปี

ไปดูความยิ่งใหญ่ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับหยางเจียง (Yangjiang Pumped Storage Power Station) ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ดำเนินการติดตั้งสเตเตอร์ (Stator) สำเร็จแล้ว โดยมีกำลังผลิตที่ 400,000 กิโลวัตต์ต่อหน่วย ที่นี่จึงกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่มีกำลังผลิตต่อหน่วยมากที่สุดในประเทศ

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับหยางเจียงมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 2.4 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งการก่อสร้างระยะแรกจะอยู่ที่ 1.2 ล้านกิโลวัตต์ โดยจะเริ่มดำเนินการทดสอบขณะระบบทำงานหลังเติมน้ำลงในระบบสูบน้ำแล้ว

related