svasdssvasds

กรมควบคุมโรคเตือน เฝ้าระวัง "ไข้เลือดออก" ติดเชื้อร่วมโควิด ดับแล้วหลายราย

กรมควบคุมโรคเตือน เฝ้าระวัง "ไข้เลือดออก" ติดเชื้อร่วมโควิด ดับแล้วหลายราย

กรมควบคุมโรค เตือนระวัง โรคไข้เลือดออก เผยผู้ป่วยที่ติดร่วมกับโควิด เสียชีวิตแล้ว 3 ราย เผย กทม. พบผู้ป่วยมากสุด ส่วนใหญ่เพบในวัยเรียน อายุ 5-14 ปี

 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยถึงโรคที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน นอกเหนือจากโรคโควิด-19 คือ โรคทางเดินอาหาร โรคท้องร่วง โรคจากลมแดด หรือเพลียแดด นอกจากนี้ยังพบว่าเริ่มมีสัญญาณผู้ป่วย "โรคไข้เลือดออก" เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

 โดยในปี 2564 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย แต่ในปี 2565 ผ่านไปเพียง 2 เดือนมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโรคโควิด-19 ด้วย และยังพบอีกว่าทั้ง 3 รายที่เสียชีวิตซื้อยากินเอง หรือรับยาจากร้านยา โดยเป็นยากลุ่มเอ็นเสด หรือเดิมคือแอสไพริน ซึ่งทำให้มีเลือดออกในทางเดินกระเพาะอาหาร และเสียชีวิตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• กรมควบคุมโรค แนะป้องกันโรคไข้เลือดออก สำรวจกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

• โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายในช่วงหน้าฝน แต่หากรู้ทัน สามารถป้องกันได้

• ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคระบาดช่วงหน้าฝนในเด็กเล็ก

 ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่สนใจโรคโควิด-19 มากจนละเลยว่า มีโรคไข้เลือดออกอยู่ ทั้งๆ ที่ อัตราการเสียชีวิตของทั้ง 2 โรคนี้นั้น ใกล้เคียงกัน ไข้เลือดออกก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยจะมีลักษณะอาการของโรคที่ต่างกัน เช่น ไข้เลือดออกจะมีไข้สูง

 ทั้งนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 9 ก.พ. 2565 พบผู้ป่วยจำนวน 305 ราย  เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุพบมากที่สุด  คือ อายุ 5-14 ปี และรองลงมา คือ อายุ 15-24 ปี จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร

 

 อย่างไรก็ตามในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก

 กรมควบคุมโรคได้เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ฉบับที่ 7/2565 ระบุว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วย จำนวน 305 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 112 ราย

 โดยกลุ่มอายุพบมากที่สุดคือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา อายุ 15-24 ปี จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ มีโรคประจำตัว 

 หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 ขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 

related