ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน สั่งการทุกอำเภอเกาะสถานการณ์ไข้เลือดออกระบาดหนักในพื้นที่ สถานการณ์น่าเป็นห่วง ยอดผู้ป่วยพุ่งสูงต่อเนื่องรวม 576 ราย เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือตอนบน
ไข้เลือดออก วันนี้ (24 ก.ค. 63) - นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของไข้เลือดออกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ระบาดอย่างหนัก ล่าสุดได้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกไปแล้ว 1 ราย จึงได้มีหนังสือสั่งการด่วนที่สุดให้นายอำเภอทุกอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกตำบล ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้ดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไข้เลือดออก หลังมีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในทุกสัปดาห์ โดยกำหนดให้มีการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นวาระสำคัญของทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน โดยให้นายอำเภอเป็นประธานในการบูรณาการดำเนินงานควบคุมโรคไข้เลือดออก ร่วมกับการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ระดับอำเภอ
ล่าสุด สถานการณ์ไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังน่าเป็นห่วง ผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 576 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 250.93 ต่อแสนประชากร พบผู้ป่วยทุกเพศวัย พบมากสุดในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง รองลงมา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และ อ.สบเมย อยู่เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือตอนบน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นชายสูงอายุในพื้นที่ ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน
นพ.ศุภชัย บุญอำพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชนทุกครัวเรือน และหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการตามมาตรการป้องกันโดยยึดหลัก 3 เก็บ 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ และ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ รวมทั้งจุดที่มักมองข้ามภายในบ้าน เช่น แจกกันหน้าหิ้งพระ และศาลพระภูมิ ควรล้างและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ ที่สำคัญควรทายากันยุงหรือนอนกลางมุ้ง เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
ปัญหาหลักที่ทำให้โรคไข้เลือดออกระบาดหนัก คือ จำนวนยุงลายที่เพิ่มมากขึ้นและมีการแพร่พันธุ์แบบทวีคูณออกไข่ครั้งละ 100-200 ฟอง ทำให้ยุงลายเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก การป้องกันและควบคุมโรคต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ได้ ที่ผ่านมาถึงแม้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เสี่ยง แต่ดูเหมือนว่ายุงเริ่มจะดื้อต่อสารเคมี และยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องอย่างน่าเป็นห่วง