มาอีกกลวิธี! เตือนภัยมิจฉาชีพทักไลน์ อ้างเป็นผู้หวังดี หลอกเจอรูปตัดต่อโชว์หวิวของเหยื่อ ลวงให้กดลิงก์ไปดู ก่อนดูดข้อมูลส่วนตัวทันที แนะใครเจอบอกให้ผู้หวังดี “แคปโพสต์ที่เจอเป็นรูป” แล้วส่งไปแจ้งความ
อาชญากรรมไซเบอร์ ในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เตือนภัยมิจฉาชีพมีหลายรูปแบบ ทั้งการแฮกข้อมูล หรือดูดข้อมูล และการฉ้อโกงออนไลน์ ทั้งการหลอกให้โอนเงิน หลอกซื้อสินค้าในราคาถูก แต่กลับไม่มีสินค้าดังกล่าว หรือสินค้าไม่ตรงปก วิธีการเหล่านี้จะถูกพ่อค้าหัวหมอหรือแก๊งมิจฉาชีพนำมาใช้อยู่เรื่อยๆ แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไป โดยเน้นไปที่ การล่อใจด้วยของถูก โปรโมชั่นพิเศษ หนักเข้าแก๊งมิจฉาชีพก็จะใช้มุขเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐซะเอง แถมยังมาเป็นทีม "ซ้อนในซ้อน" แผนอีกที อย่างกรณีของการอ้างเป็นพัสดุผิดกฎหมาย เป็นกระบวนการที่แก๊งมิจฉาชีพทำงานเป็นทีมเวิร์กมากที่สุด แต่โซเชียลมีเดียที่ได้แชร์และเตือนภัยพฤติกรรมดังกล่าวออกมามากมาย ทำให้แก๊งมิจฉาชีพใช้รูปแบบนี้น้อยลง แต่ข่าวร้ายคือมิจฉาชีพก็เปลี่ยนรูปแบบไปอีก
และเริ่มใช้เรื่องที่ใกล้ตัวคนมากขึ้น เน้นความอยากรู้และความกังวลของคนว่าจะกระทำผิดกฎหมาย เช่นอ้างว่า มีใบสั่งค้างค่าปรับ ขอให้เราไปจ่าย มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี โดยสามารถกดลิงก์ไปจ่ายเงินออนไลน์ได้ หรือ โทรเข้ากลางดึก อ้างว่าโอนเงินมาผิดบัญชี หวังเหยื่องัวเงียโอนคืนอีกบัญชีผิดกฎหมาย รวมถึงเวลาที่เราไปกดอ่านคอมเมนต์ตามข่าวในเฟซบุ๊กต่างๆ มักจะเจอคนมาแปะลิงก์ข่าวหรือลิงก์ดูคลิปข่าวดังๆ ซ้ำๆเยอะแยะไปหมด เมื่อเรากดไปเมื่อไหร่ Game Over ทันที เจอทั้งสแปม และดูดข้อมูลส่วนตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด สถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ โพสต์รูปและข้อความเตือนภัยมิจฉาชีพ ใช้วิธีหลอกเหยื่อรูปแบบใหม่ของแก๊งมิจฉาชีพ ระบุว่า...
หลอกให้กดลิงก์
พัฒนารูปแบบใหม่ๆกับมุขโจรออนไลน์รายนี้คือ
- ทักไลน์มาบอกมีรูปเราหลุดไปในเว็บโป๊
- ส่งลิงก์มาให้กดดู
- เราตกใจกดเข้าไปดู
มีโอกาสที่จะโดนดูดข้อ แฮก หรืออะไรก็สุดแต่โจรจะเขียนโปรแกรมไว้ครับ
ทางออกคือ ขอให้เขาแคปจอมาให้ดูดีกว่า
ใครโดนหลอกอะไรเห็นมีประโยชน์แจ้งในกล่องข้อความด้วยครับ เราจะนำมาบอกต่อเพื่อช่วยกันสร้างความรู้สู้ภัยอาชญากรรมไซเบอร์ครับ
คำเตือนภัยมิจฉาชีพ ของตำรวจเชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หลายคนอาจตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์พวกนี้ได้ไม่ยาก
เพราะหลักการทางจิตวิทยาที่แก๊งมิจฉาชีพใช้ล่อลวงเหยื่อ จะมี 3 ข้อหลักๆ
1.ความโลภ โดยเอาผลประโยชน์ด้านตัวเงินมาเป็นเหยื่อล่อ เช่น คุณเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล หรือเงินกู้โครงการพิเศษ รวมทั้งสินค้าราคาพิเศษ ล่อให้หลงกลกดลิงก์เข้าไปดู
2.ความกลัว หรือความกังวล โดยอ้างว่า เราเกี่ยวพันกับเรื่องผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี อายัดทรัพย์สิน รวมทั้งเราไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่เหมาะสมในเว็บไซต์ต่างๆ เมื่อเรากดเข้าไปตรวจสอบ ก็จะตกเป็นเหยื่อ
3.ความอยากรู้อยากเห็น โดยจะส่งลิงก์ที่เกี่ยวกับบทความหรือ VDO ที่เกี่ยวกับ sex หรือการพนัน รวมทั้งลิงก์ข่าวปลอมเกี่ยวกับอุบัติเหตุต่างๆ ล่อให้เรากดเข้าไปดู
ดังนั้น เราจึงต้องตั้งสติทุกครั้ง ไม่กดลิงก์หรือข้อความแปลกๆ โดยเฉพาะจากคนที่ไม่รู้จัก แม้จะเป็นคนที่เราสนิท ก็ต้องสอบถามกลับไปทุกครั้งว่า ส่งลิงก์อะไรมาให้ เพราะหลายครั้ง ที่โปรแกรมพวกนี้ จะคัดลอกตัวเอง และส่งข้อความต่อโดยอัตโนมัติ และท่องกฎทุกครั้งว่า “ไม่โลภ ไม่กลัว ไม่สนใจ” จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพไซเบอร์เหล่านี้