ตลาดน้ำมัน WTI ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 125 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่อแววราคาของกิน-ของใช้ราคาสูงขึ้น จับตาอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. หลัง เดือน ก.พ. พุ่งกว่า 5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว สูงสุดในรอบ 13 ปี
ตลาดราคาน้ำมันดิบ WTI เช้านี้ (7 มี.ค. 65) ราคาพุ่งขึ้นแตะ 125 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจาก นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ออกสื่อว่า สหรัฐฯและประเทศพันธมิตร เตรียมแบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยมีเป้าหมายที่จะตอบโต้รัสเซียกรณีใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน แม้ว่ารัสเซียจะเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับต้น ๆ ของโลกก็ตาม
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยกับ SPRiNG ว่า ราคาน้ำมันขึ้นแน่นอนว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น เงินเท่าเดิมจะซื้อของได้น้อยลง ทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคภาคประชาชนมีราคาที่สูงขึ้น และทำให้รัฐบาลมีงานยากขึ้นในการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
“เมื่อราคาน้ำมันขึ้น ก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงมากขึ้น จากร้อยละ 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นสินค้าต่าง ๆ ก็จะปรับราคาขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น” สุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.พ.2565 เท่ากับ 104.10 เทียบกับ ม.ค.2565 เพิ่มขึ้น 1.06% เทียบกับเดือน ก.พ.2564 เพิ่มขึ้น 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551 ส่วนเงินเฟ้อรวม 2 เดือนปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 4.25%
เมื่อราคาน้ำมันขึ้น สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างเห็นได้ชัดคือ ราคาขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นราคาขนส่งวัตถุดิบไปสู่โรงงาน หรือ ราคาส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค และเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาขนส่งสูงขึ้น ต้นทุนก็จะสูงขึ้นตาม และเมื่อต้นทุนสูงขึ้น ราคาของก็ต้องปรับสูงขึ้นตาม ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงราคาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำมัน ซึ่งมีโอกาสปรับสูงขึ้นจนกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการขึ้นราคาของผู้ผลิต
เรื่องเหล่านี้อาจดูเหมือนไกลตัว แต่เมื่อย้อนกลับไปดู จะพบว่าราคาขนส่งที่สูงขึ้น สิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุดคือ ถ้าค่าส่งหมูจากฟาร์มสู่ตลาดแพงขึ้น เขียงหมูก็ต้องปรับราคาขึ้น แม่ค้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวก็ต้องปรับราคาขึ้น
“ราคาขนส่งขึ้น ส่งผลกับทุกส่วน แม้แต่มาม่าก็ยังปรับราคาขึ้น ซึ่งสวนทางกับรายได้ของประชาชนที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้า” สุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าว
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า “การรับมือภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันพุ่งสูง ภาคประชาชนต้องรอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือ ในการควบคุมและดูแลราคาสินค้าต่าง ๆ เท่ากับว่ารัฐบาลต้องหาวิธีการในการลดต้นทุนการผลิต เช่น สนับสนุนการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ”
“ปัจจัยที่จะทำให้ราคาลงหลังจากนี้ คือ การเจรจาสงบศึกระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการผลิตน้ำมันส่งออกเพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศที่ส่งออกน้ำมันหรือ โอเปก(OPEC)” สุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าว