หลังจาก รัสเซีย เริ่ม “ปฏิบัติการพิเศษ” เข้าโจมตี ยูเครน จนโลกจับตา ทั้งในหน้าสื่อและในหน้าโซเชียลมีเดีย ล่าสุดผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และ Google ต่างพากันจำกัดเนื้อหาจากสื่อของรัฐบาลรัสเซียบนแพลตฟอร์ม ส่วนรัสเซียเองก็ใช้กฎหมายกดดันกลับ
สื่อของรัฐบาลรัสเซียโดน Fact-Check
RT หรือ Russia Today สำนักข่าวภาษาอังกฤษภายใต้การควบคุมของรัฐบาลรัสเซีย เป็นหนึ่งในสื่อที่ถูกเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook จำกัดเนื้อหาและทำการเช็กข้อเท็จจริง หรือ Fact-Check
ด้าน Youtube จำกัดการเข้าถึงช่องของสำนักข่าว RT และ เพจ Sputnik ทั่วทั้งยุโรป ส่วน Twitter จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาของทั้ง 2 สื่อ และขึ้นข้อความว่า “สื่อภายใต้การควบคุมของรัฐ” หรือ State-controlled media
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการกดดันบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการจัดการกับข้อมูลเท็จ ภาพข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด และข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการใช้กำลังทางทหารของรัสเซียโจมตียูเครน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวิฟต์ (SWIFT) คืออะไร การคว่ำบาตรด้วยวิธีนี้ ส่งผลกระทบกับรัสเซียอย่างไร ?
"วลาดิเมียร์ ปูติน" ประธานาธิบดีรัสเซีย มีสินทรัพย์เท่าไหร่ ?
การเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียลของชาวยูเครน
หลังจากที่ยูเครนถูกโจมตี เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ชาวยูเครน ต่างใช้ช่องทางของตัวเองสื่อสารออกไปยังโลกภายนอกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหล่าบล็อกเกอร์ที่ยุติการโพสต์คอนเทนต์หลักของตัวเอง เช่น การท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ มาเป็นการสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศของตน
นอกจากนี้ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน และบุคคลในรัฐบาล ก็ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารกับโลกภายนอกอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกัน
รัสเซียโต้กลับยักษ์โซเชียลมีเดียอย่างไร ?
ด้านรัสเซียโต้กลับบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ที่จำกัดคอนเทนต์ต่าง ๆ ของรัฐบาลรัสเซีย ด้วยการงัดข้อกฎหมายมาใช้บล็อคไม่ให้ประชาชนรัสเซียเข้าใช้ Facebook ได้ หลังจากที่บริษัทฯ ปฎิเสธคำขอของรัฐบาลรัสเซียที่จะให้หยุดการ Fact-Check สำนักข่าวของรัฐบาล
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การใช้ Facebook ในรัสเซีย มีความเร็วที่ช้าลง วิดีโอและภาพนิ่งใช้ระยะเวลาในการโหลดนานขึ้นกว่าปกติ
ขณะที่แพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นสัญชาติจีน อย่าง Tiktok ก็ได้รับการร้องขอจากรัสเซียเช่นกัน ให้หยุดการแนะนำเนื้อหาเกี่ยวกับ “ปฏิบัติการพิเศษ” ของรัสเซียกับยูเครนให้ผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี
นอกจากการบล็อคการเข้าถึงแล้ว รัฐบาลรัสเซีย พยายามใช้กฎหมายบังคับบริษัทโซเชียลมีเดียเหล่านี้ด้วยการให้ตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการในประเทศ ก่อนเดือนมีนาคม หากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้นต้องการที่จะสร้างรายได้จากการโฆษณาจากการให้บริการในรัสเซีย โดยระบุว่า ถ้าไม่ตั้งสำนักงานในประเทศก็จะโดนแบน
หลังจากผ่านเส้นตายที่รัฐบาลรัสเซียกำหนดไว้(1 มี.ค. 65) Facebook และ Google ก็ยังไม่ตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการภายในประเทศ
โดยปีที่ผ่านมา รัสเซียได้ดำเนินการปรับ Google , Facebook , Twitter , Tiktok และ Telegram เนื่องจากเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ยอมลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายรัสเซีย
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์มีผลต่อชีวิตประจำวันเรามากขึ้น หากใครสามารถควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ได้ ก็มีโอกาสที่จะสามารถควบคุมทิศทางความคิดส่วนใหญ่ของผู้ใช้ได้ สำหรับรัสเซียเองก็มีสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเอง ในชื่อ VK เพื่อให้บริการแข่งกับเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จากฝั่งตะวันตกเช่นเดียวกัน