หมอธีระ เผยสถานการณ์โควิดวันนี้ ไทยยอดผู้ติดเชื้อจริงสูงกว่าที่รายงาน พบปัญหาในการเข้าถึงบริการตรวจ RT-PCR หรือ ATK ชี้ต้องป้องกันตัวให้เคร่งครัด
วันที่ 22 ก.พ. 65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยระบุข้อความว่า
22 กุมภาพันธ์ 2565 ทะลุ 426 ล้านแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,244,281 คน ตายเพิ่ม 6,097 คน รวมแล้วติดไปรวม 426,229,273 คน เสียชีวิตรวม 5,908,832 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย เยอรมัน เกาหลีใต้ ตุรกี และญี่ปุ่น
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 97.38% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 94.16%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 48.01% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 44%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หมอพร้อม Chatbot ผู้ติดเชื้อโควิดประเมินตนเอง แม่นยำถึง85% พร้อมใช้งานแล้ว
ติดโควิด-19 ยังไม่มีเตียง-ไม่มีรพ.ขอกล่อง ‘GULF CARE’ รักษาก่อน
สถานการณ์ไทยเรา
เอาแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน (RT-PCR) เมื่อวาน ถือว่าสูงเป็นอันดับ 18 ของโลก และอันดับ 8 ของเอเชีย
แต่ถ้ารวม ATK ไปด้วย จะขึ้นมาเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ติดเชื้อจริงจะมากกว่าที่เห็นจากตัวเลขที่รายงาน เพราะปัญหาในการเข้าถึงบริการตรวจ ไม่ว่าจะ RT-PCR หรือ ATK ก็ตาม ยังไม่นับเรื่องโอกาสเกิดผลลบลวงจากการตรวจด้วย ATK ซึ่งมีสูงกว่าวิธี RT-PCR เนื่องจากความไวต่ำกว่า
จากที่เคยวิเคราะห์ธรรมชาติการระบาดทั่วโลกในกลุ่มประเทศที่ผ่านพีคของ Omicron (โอมิครอน) ไปแล้วนั้น ค่ามัธยฐานของจำนวนติดเชื้อสูงสุดต่อวันจะสูงกว่าพีคเดลตาราว 3.65 เท่า ทั้งนี้ไทยเรามีปัญหาหลักอยู่ที่ข้อจำกัดเชิงระบบบริการตรวจ ทำให้ตรวจได้ไม่มาก
"ดังนั้นภาพรวมสุดท้ายในอนาคตอันใกล้นั้น น่าจะเห็นพีคไทยได้เท่าที่ตรวจ"
แต่ขอให้เราตระหนักไว้ว่าธรรมชาติการระบาดของต่างประเทศเป็นดังที่กล่าวมา และต้องป้องกันตัวให้เคร่งครัด
เรื่องสำคัญที่ขอเน้นย้ำอีกครั้ง
ที่ต้องทำตอนนี้มีอยู่เรื่องเดียวจริงๆ คือ "เปิดโหมด survival" สำหรับตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ได้
มุ่งเป้า"ไม่ติดเชื้อ" เพื่อที่จะไม่ต้องไปลุ้นเรื่องภาวะอาการคงค้างเรื้อรังหรือ Long COVID ซึ่งเสี่ยงต่อการเสื่อมสมรรถนะร่างกายและจิตใจในระยะยาว ทำให้ความสามารถในการดูแลตนเองลดลง ต้องพึ่งพิงคนอื่น หรือทุพพลภาพ
จะทำเช่นนั้นได้ ไม่มีทางอื่นนอกจาก"การป้องกันตัว"
-หนึ่ง ใส่หน้ากากเสมอ
เจอใครไม่ใส่ ก็"ชั่งหัวมัน" เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเอาตัวรอด ใครรักชีวิตเสี่ยงก็เสี่ยงไป แจ็คพอตก็หวังว่าจะกล้าหาญพอที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในอนาคต
-สอง เว้นระยะห่างจากคนอื่น
ชีวิตจริงเวลาไปทำธุระ ไปทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวัน แม้เราจะระวัง แต่จะเจอเสมอที่คนอื่นๆ ที่เราพบปะนั้นจะเข้ามาคลุกคลีใกล้ชิดปานจะกลืนกิน ดังนั้นพอเห็นใครมาใกล้กว่าหนึ่งเมตร ขอให้ก้าวกระเถิบออกมาให้ห่างจากเค้า
การทำเช่นนี้ ไม่ได้เสียมารยาท
แต่เป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยทั้งเราและเค้า เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าใครจะติดจากใคร นอกจากนี้พอเราทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ก็จะเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นเกิดการเรียนรู้ และเป็นบรรทัดฐานเวลาเจอกันยามระบาด
-สาม งดกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
ติดกันมานักต่อนัก มากมายรอบตัว ทั้งจากการกินข้าวในที่ทำงาน การนัดพบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง หรืออื่นๆ หลายที่ก็มีนโยบายห้ามหรืองดกินข้าวร่วมกันในที่ทำงาน ให้แยกไปต่างคนต่างกิน
ส่วนที่ไหนที่ทำไม่ได้ หรือใครทำไม่ได้ ก็ขอให้ตระหนักไว้ว่าเสี่ยงแน่นอน รอแจ็คพอตว่าจะเมื่อใดก็เท่านั้น จึงต้องอ่านข้อสุดท้ายคือข้อสี่ต่อไป
-สี่ หมั่นตรวจตราตนเองและสมาชิกในครอบครัว
หากไม่สบายคล้ายหวัด ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ไอ เจ็บคอ คัดจมูกน้ำมูกไหล แม้เล็กน้อย ก็จงตระหนักไว้ว่ามีโอกาสเป็นโควิด-19 (Covid-19) และจะนำพาไปสู่การระบาดในครอบครัว และที่ทำงานได้
ดังนั้นหากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แยกตัวจากคนใกล้ชิด ป้องกันตัว 100% และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
หากท่าน และครอบครัวป้องกันตัวเต็มที่ดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเสี่ยงจะลดลงไปมาก และเป็นหนทางสู่โหมด survival
ย้ำอีกครั้งว่า Long COVID จะเป็นปัญหาหลักในอนาคต ตัวเลขแต่ละวันที่เห็นนั้นอาจไม่สะท้อนสถานการณ์จริงเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องศักยภาพของระบบการตรวจ การติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันจึงน่าจะมากกว่าที่เห็น
Long COVID ป้องกันได้ หากเราป้องกันตัว