กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาฟังก์ชันบน “หมอพร้อม Chatbot” ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประเมินตนเองในการคัดกรองภาวะวิกฤต และความเร่งด่วนในการรักษา เพื่อรับคำแนะนำเบื้องต้น เช่น ควรดูแลที่บ้าน หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีความแม่นยำร้อยละ 85 พร้อมใช้งานแล้ววันนี้
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และดูจะน่าเป็นห่วงมากขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีการติดต่อกันได้มากขึ้น จากสายพันธุ์โอไมครอน ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเล็กน้อย หรือตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ก็ติดต่อหาสถานพยาบาลเพื่อประเมินอาการหรือรับการรักษาค่อนข้างนาน ล่าสุดวันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2565) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาฟังก์ชันการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 (Self-assessment) บนระบบ “หมอพร้อม Chatbot” เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยคัดกรองผู้ที่มีผลการตรวจโควิด-19 เป็นบวก ให้ได้รับคำแนะนำในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้ โดยการประเมินดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองภาวะวิกฤต
2.การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองความเร่งด่วน
ทั้งนี้ เมื่อผู้ติดเชื้อทำแบบประเมินความเสี่ยง บน “” ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพพื้นฐานของผู้ติดเชื้อ อาการและความพร้อมในการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งอ้างอิงจากผลการศึกษาทางวิชาการของกรมการแพทย์ โดยสามารถประเมินให้ตนเองหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อได้ โดยเครื่องมือการประเมินมีค่าความแม่นยำร้อยละ 85
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ผลจากการประเมินบน “หมอพร้อม Chatbot” เป็นการให้คำแนะนำในเบื้องต้น ไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์ หากประชาชนที่ติดเชื้อโควิด 19 มีอาการรุนแรงขอให้เข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน และหากมีอาการนอกเหนือจากที่แบบประเมินกำหนด หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ สำหรับช่องทางการประเมินความเสี่ยงบนหมอพร้อม Chatbot สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้ ทั้ง LINE Official Account , แอปพลิเคชัน และช่องทางแชทบน Facebook Page ของหมอพร้อม” นพ.โสภณกล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามระบบการรักษา หากติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย จะเน้นการดูแลรักษาที่บ้านและชุมชนเป็นลำดับแรก (HI/CI First) ซึ่งจะได้รับการติดตามอาการทุกวันจากบุคลากรทางการแพทย์ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะได้รับการส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลตามระบบ ทั้งนี้ แบบประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อผ่านระบบหมอพร้อม Chatbot จะเป็นอีกช่องทางและเครื่องมือในการช่วยประเมินอาการตนเองเพื่อรับคำแนะนำการเข้ารับการดูแลรักษาเบื้องต้น
โดยหมอพร้อม Chatbot จะมีเมนู “ติดโควิด คลิกที่นี่” จากนั้นระบบจะถามคำถามเพื่อประเมินและคัดกรองภาวะวิกฤต ได้แก่ 1.มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจไม่ทัน หายใจเหนื่อยจนซี่โครงบาน หายใจเร็วกว่า 20 ครั้งต่อนาที หายใจมีเสียงดัง
2.อาการซึมลง ไม่รู้สึกตัว
3.อาการตัวซีด เย็น
4.อาการเหงื่อท่วมตัว
หากมีอาการจะแนะนำว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินให้ติดต่อ 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล