โอมิครอน BA.2 อาการ ข้อมูลโควิดสายพันธุ์ล่าสุดที่เชื่อว่าจะมีการแพร่ระบาดกระจายในวงกว้างแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.1
รู้จัก โควิดสายพันธุ์ย่อย โอมิครอน BA.2
เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุ "อีกไม่นาน BA.2 อาจจะเป็นโควิดสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.1 ซึ่งเป็นโอมิครอนสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นวงกว้างในตอนนี้ ไวรัส BA.2 มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่า BA.1 ประมาณ 30-40% ความแตกต่างระหว่าง BA.2 กับ BA.1 นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนหนามสไปค์ที่ต่างคนต่างมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวของตัวเองแล้ว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งอื่นนอกโปรตีนหนามสไปค์อาจมีส่วนทำให้ BA.2 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่า BA.1 งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมญี่ปุ่นมีผลการทดลองที่น่าสนใจครับ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ยอดดับพุ่ง! โควิดวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 18,883 ราย เสียชีวิต 32 ราย
หมอเฉลิมชัย เผยผลวิจัย โอไมครอน BA.2 ก่อโรครุนแรง กระจายดีในจมูก ทำปอดแย่ลง
1. ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจากอาสาสมัครในญี่ปุ่นเมื่อนำมาทดสอบเปรียบเทียบระหว่างไวรัส BA.1 และ BA.2 พบว่า BA.2 หนีภูมิได้สูงกว่า เช่น ภูมิจาก Moderna ถูก BA.1 หนีได้ 15 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ 18 เท่า และ ภูมิจาก AZ ถูก BA.1 หนีได้ 17 เท่า แต่ BA.2 หนีได้ 24 เท่า
2. ที่น่าสนใจคือ ภูมิจากการติดเชื้อ BA.1 มา ดูเหมือนจะถูก BA.2 หนีได้เช่นกัน ทั้งๆที่หลายคนเชื่อว่าไวรัสสองตัวนี้เป็นกลุ่มโอมิครอนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างระหว่างสองสายพันธุ์นี้ทำให้ภูมิจาก BA.1 ถูกไวรัส BA.2 หนีได้มากถึง เกือบ 3 เท่า ผลจากหนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่ออกแบบจากสไปค์ของ BA.1 ก็ถูก BA.2 หนีได้มากถึง 6.4 เท่า แสดงว่า โอมิครอน 2 สายพันธุ์นี้อาจจะใช้ทำเป็นวัคซีนแทนกันไม่ได้ซะทีเดียว
3. BA.1 เป็นไวรัสที่ไม่รุนแรงในหนูแฮมสเตอร์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไวรัสเปลี่ยนไปจนจับโปรตีนตัวรับของสัตว์ทดลองไม่ได้ดี หรือ ไวรัสลดความรุนแรงลงจนติดปอดหนูไม่ได้ดีเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่ BA.2 ติดหนูแฮมสเตอร์ได้ดีกว่า BA.1 มาก
ทีมวิจัยเชื่อว่า BA.2 อาจจะไม่ใช่โอมิครอนทั่วไปเหมือน BA.1 ทั้งคุณสมบัติของไวรัสที่แตกต่างกัน และ ความแตกต่างทางการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ไวรัสตัวนี้อาจจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Pi ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวถัดไปต่อจากโอมิครอน
อาการคล้ายสายพันธุ์เดิม แต่แพร่กระจายได้ดีกว่า BA.1 ประมาณ 30-40%
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ “หมอยง” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan มีใจความสำคัญเกี่ยวกับโควิดวายพันธุ์ย่อย โอมิครอน BA.2 ระบุ "สายพันธุ์ที่มีแนวโน้มไปได้เร็ว BA.2 เราคงหนีไม่พ้น ขณะนี้การระบาดอยู่ในขาขึ้นในทวีปเอเชีย สิงคโปร์มีประชากรน้อยกว่าเรา 10 เท่า ยังมีผู้ป่วยมากกว่าหมื่นห้า ญี่ปุ่นขึ้นไปเกือบแสน เกาหลี ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบ มากกว่าเราทั้งนั้น
จะเห็นว่าการเปลี่ยนสายพันธ์แต่ละครั้งจำนวนผู้ป่วยในบ้านเรา จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากระลอกแรกเป็นหลักสิบ ระลอก 2 เป็นหลักร้อย และระลอก 3 เป็นหลักพัน ระลอก 4 เจอสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลักหมื่น ครั้งนี้เป็นระลอก 5 สายพันธุ์โอไมครอน ไม่แน่ใจว่าจะขึ้นเป็นหลักแสนหรือเปล่า ไม่อยากเห็นตัวเลขขึ้นแบบนั้นเลย"