หมอยง เผยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน BA.2 มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในประเทศไทย ผู้ป่วยใหม่จำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นการติดในครอบครัว และจะติดทั้งครอบครัว คาดยอดผู้ติเชื้ออาจแตะ 3-5 หมื่น หรือมากกว่า
โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน BA.2 มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในประเทศไทย จากการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ ในการติดตามสายพันธุ์โอไมครอน ที่พบในเขตกรุงเทพมหานคร จะเห็นว่าสายพันธุ์ที่พบทั้งหมด เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ส่วนใหญ่ที่พบยังเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในเดือนกุมภาพันธ์นี้มีแนวโน้มที่พบ สายพันธุ์ BA.2 เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด สายพันธุ์ BA.2 ไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่จะติดต่อง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์ BA.1 และจะเป็นเหตุ ให้การแพร่กระจายของโรคได้มากขึ้น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ประเด็น โควิด-19 การระบาดอยู่ในขาขึ้น โดยระบุว่า
สายพันธุ์ที่มีแนวโน้มไปได้เร็ว BA.2 เราคงหนีไม่พ้น ขณะนี้การระบาดอยู่ในขาขึ้นในทวีปเอเชีย สิงคโปร์มีประชากรน้อยกว่าเรา 10 เท่า ยังมีผู้ป่วยมากกว่าหมื่นห้า ญี่ปุ่นขึ้นไปเกือบแสน เกาหลี ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบ มากกว่าเราทั้งนั้น
จะเห็นว่าการเปลี่ยนสายพันธ์แต่ละครั้งจำนวนผู้ป่วยในบ้านเรา จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากระลอกแรกเป็นหลักสิบ ระลอก 2 เป็นหลักร้อย และระลอก 3 เป็นหลักพัน ระลอก 4 เจอสายพันธุ์เดลตาเป็นหลักหมื่น ครั้งนี้เป็นระลอก 5 สายพันธุ์โอไมครอน ไม่แน่ใจว่าจะขึ้นเป็นหลักแสนหรือเปล่า ไม่อยากเห็นตัวเลขขึ้นแบบนั้นเลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• หมอยง เผยผลสำรวจผู้ปกครองเด็กอายุ 5-11 ปี สมัครใจฉีดวัคซีนโควิดกว่า 70%
• หมอยงชี้ "โอไมครอน" อัตราป่วยหนัก-เสียชีวิตยังต่ำ ไม่อันตรายเท่า "เดลตา"
• หมอยง ชี้ไร้หนทางกำจัดโควิด แนะหาวิธีที่อยู่ด้วยกันได้ จับตาสายพันธุ์ใหม่
เมื่อวานผมเข้าร่วมบรรยาย Webinar กับอินโดนีเซีย และว่านเย็น บรรยายกลุ่มโรคเด็กกับอียิปต์ ในเรื่องของ covid-19 เราคงต้องยอมรับความจริง โรคนี้ในเอเชียจะต้องขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วจึงค่อยลงมาอีก จะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ในยุโรปและอเมริกาอยู่ขาลงแล้ว
มีโทรศัพท์เข้ามา โดยเฉพาะมีผู้ป่วยใหม่ขอคำปรึกษาจำนวนมาก แสดงให้เห็นจำนวนผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นการติดในครอบครัว และจะติดทั้งครอบครัว
จำนวนผู้ติดเชื้อในบ้านเราอยู่ในขาขึ้น ยอดสูงสุดจะเป็นเท่าไหร่ อาจจะถึง 3-5 หมื่น หรือมากกว่าก็ได้ ขณะนี้ที่เห็นชัดก็คือว่าถ้าเรารวมผู้ป่วยตรวจยืนยัน RT PCR กับ ATK ก็น่าจะเกิน 25,000 แล้ว และดูอัตราการเสียชีวิต ในภาพรวมดังแสดงในรูป จะอยู่ที่น้อยกว่า 2 ใน 1000 ถ้าเอาผู้ที่มีอาการน้อยและตรวจพบ ATK มารวมด้วยอัตราการเสียชีวิตก็จะอยู่ที่น้อยกว่า 1 ใน 1000
เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยมากขนาดนี้และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันก็คือ ลดการติดต่อโรคให้ได้มากที่สุด
ผู้ที่ตรวจ ATK เป็นบวก แล้วไม่มีอาการ ให้แยกตัวกักตัวเองเลย อาจไม่จำเป็นที่ต้องไปตรวจยืนยันเลย ให้ปฏิบัติตัวเหมือนผู้ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ค่าตรวจจะมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น คงขึ้นอยู่กับอาการมากกว่า สมมุติว่าถ้าเราติดเชื้อรวมทั้ง ATK เกินกว่า 50,000 ราย และต้องตรวจ RT PCR หมด รวมทั้งมีการตรวจกรองกลุ่มเสี่ยงอีก ซึ่งขณะนี้เราตรวจกันวันละประมาณ 50,000 คน และถ้าต้องตรวจเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คน ค่าตรวจคนละ 1,000 บาท เราจะต้องใช้เงินค่าตรวจวันละ 100 ล้านบาท
ผู้ที่มีอาการ ก็จะต้องแยกแยะว่ามีอาการมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีอาการน้อยและสามารถแยกตัวที่บ้านได้ก็ควรอยู่บ้าน เพราะขณะนี้ทราบดีแล้วว่าส่วนใหญ่มีอาการน้อย ถ้าร่างกายแข็งแรงดี หรือมีอายุน้อย นอกจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับยืนยันอย่างรวดเร็ว และเข้ารับการรักษา สภาพอย่างในปัจจุบันนี้ คงเป็นไปไม่ได้ ที่ทุกคนเมื่อตรวจพบเชื้อแล้ว จะต้องอยู่โรงพยาบาล
ที่มา : Yong Poovorawan