กรมการแพทย์เผย "มะเร็งปอด" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย แนะสังเกตสัญญาณเตือนไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์
ปัจจุบันต้องยอมรับว่า “โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งมะเร็งที่พบว่าคนไทยเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น “มะเร็งปอด” เพราะปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซผ่านการหายใจ โดยการนำก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระแสเลือดในร่างกาย และแลกเปลี่ยนเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกระแสเลือดด้วย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สำคัญในการขับของเสียออกจากร่างกายอีกด้วย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า "มะเร็งปอด" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) การตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง สาเหตุสำคัญ ได้แก่
1. การสูบบุหรี่รวมถึงยามวนต่างๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคมะเร็งปอด ผู้สูบบุหรี่อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึงผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เองโดยตรง แต่สูดดมจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด
2. ได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ฉนวนกันความร้อน ผู้เสี่ยงคือผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสปนเบื้อนเป็นเวลานาน อาจใช้เวลา 15-35 ปี ในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า
3.สาเหตุอื่นๆ จากมลภาวะ เช่น PM 2.5 สารเบนซิน ฟอร์มาลดีฮายด์ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ช็อกวงการบันเทิง! อาต้อย เศรษฐา เสียชีวิตแล้วในวัย 77 ปี หลังป่วยมะเร็งปอด
• สรพงศ์ ชาตรี ป่วยโรคมะเร็งปอดไม่ใช่มะเร็งสมอง โรคร้ายที่ไม่มีสัญญาณเตือน
• "หมอแล็บ" เตือนความร้ายกาจฝุ่น PM 2.5 เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้จริง
ผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมากไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่มาก่อน ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามไปแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราตายสูง วิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
อาการที่เข้าข่ายว่าอาจเป็น "มะเร็งปอด"
นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยอีกว่า อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก ซึ่งจริงๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอด อาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด
หากมีอาการสงสัยต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การวินิจฉัยทำโดยการถ่ายภาพรังสีปอด (X-ray หรือ CT scan) ร่วมกับการตรวจหาเซลมะเร็ง เช่น การตรวจจากเสมหะ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากปอดมาตรวจ เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดแน่นอนแล้วแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติร่วมตัดสินใจ โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ระยะโรคและการลุกลาม ความแข็งแรงของผู้ป่วยเป็นหลัก
สำหรับการรักษามีทั้งการผ่าตัด การใช้ยา การฉายแสง หรือรักษาร่วมกันหลายวิธี เนื่องจากมะเร็งปอดการตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยากและมีอัตราตายสูง ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ ป้องกันตัวจากการสัมผัสแร่ใยหิน หรือมลภาวะ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ประเภทของมะเร็งปอด
• มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก พบได้ประมาณ 15 % มักเกิดขึ้นบริเวณใกล้ขั้วปอดไปจนถึงส่วนกลางของหลอดลม เป็นชนิดที่มีการเจริญเติบโต และแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างรวดเร็ว มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการรักษาด้วยรังสี
• มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก พบได้ประมาณ 85 % ถือว่าเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เซลล์มีการเจริญเติบโต และแพร่กระจายได้ช้ากว่าชนิดแรกจึงสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ
อาการของมะเร็งปอด
ปกติแล้วโรคมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาเลย กว่าจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 แล้ว ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
• ไอเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นเวลานาน มีเสมหะเป็นเลือด เสียงแหบ เจ็บหน้าอกเมื่อไอ
• ปัญหาด้านการหายใจ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยหอบตลอดเวลา หายใจมีเสียงหวีด
• เบื่ออาหาร เพราะเนื้อร้ายจะไปกดเบียดหลอดอาหารทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารลำบากจึงไม่อยากทานอาหาร อ่อนเพลีย และส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ
• อาการอื่นๆ เมื่อเชื้อมะเร็งลุกลามไปที่อื่นจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามข้อ ปวดกระดูก ตาเหลือง ตัวเหลือง เลือดอุดตันที่ใบหน้าทำให้หน้าบวม
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด
• การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยหลักถึง 85 % ของสาเหตุทั้งหมด เพราะในบุหรี่จะอุดมไปด้วยสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดควันเข้าไปสารพวกนี้จะตรงเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งปราการด่านแรกที่ต้องเจอกับสารพิษนี้คือปอดของเรานั่นเอง แม้ร่างกายจะสามารถกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้ แต่หากยังคงสูดสารพิษเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่องจะทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมได้ทันจนเกิดความเสียหายต่อเซลล์ และเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด
• อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น อวัยวะรวมถึงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายจะยิ่งทำงานเสื่อมสภาพลง โดยผู้ที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด
• การได้รับสารพิษ เช่น ก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่พบได้ในบางแห่ง สารหนู ถ่านหินที่ผู้ป่วยมักได้รับจากการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งสารพิษจากมลภาวะที่มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะก็อาจเป็นสารกระตุ้นทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดได้
• พันธุกรรม หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งปอด จะทำให้เรามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นด้วย
การรักษาโรคมะเร็งปอด
• การรักษาโรคมะเร็งปอด แพทย์จะพิจารณาจากอาการ และความรุนแรงของโรคตามความเหมาะสมของบุคคล โดยมีวิธีการรักษา ดังนี้
• การผ่าตัด แพทย์จะผ่าเอาเนื้อเยื่อของปอดบางส่วนเพื่อตรวจดูการแพร่กระจายของเชื้อ หากพบว่ามีการแพร่กระจายของเชื้อมากแพทย์จะเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกเพื่อป้องกันเชื้อลุกลามไปอวัยวะอื่น
• เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็ง และรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด มักใช้ก่อนการผ่าตัด โดยจะมีวิธีรักษาคือฉีดยาเข้าเส้นเลือด
• การฉายรังสี เป็นการใช้แสงที่มีพลังความเข้มข้นสูงฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยวิธีนี้ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่เชื้อมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ แล้ว
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเพชรเวช