เปิดใจผู้บริหารปางช้างแม่สา ถึงการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของคนและช้าง ในช่วงวิกฤตของธุรกิจท่องเที่ยว ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด
ปางช้างแม่สา ศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก่อตั้งโดย ชูชาติ กัลมาพิจิตร เมื่อปี 2519 หรือเมื่อประมาณ 46 ปีที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดย อัญชลี กัลมาพิจิตร บุตรสาวของชูชาติ
โดยสถานที่แห่งนี้ถือว่าเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยี่ยมชม แต่ช่วงที่ไทยประสบกับสถานการณ์โควิดระบาด ทำให้ปางช้างแม่สา ต้องปิดตัวลงชั่วคราวถึง 2 ครั้ง ในปี 2563 และในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ก่อนเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
ข่าวที่น่าสนใจ
โควิด-19 พ่นพิษ ธุรกิจร้านอาหาร-โต้รุ่ง พื้นที่สีแดง ยอดขายตกระนาว
การปรับตัวยุคโควิด-แข่งขันสูง! Bonchon พลิกตำราขายไก่ทอดไหว้เจ้า
โรงแรมเครือ 'บีทู' 43 แห่งแจ้งปิด 1 เดือนหวังประคองธุรกิจอยู่รอด
เปิดใจผู้บริหารปางช้างแม่สา ในวันที่เจ็บปวด และต้องปรับตัว
อัญชลี กัลมาพิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปางช้างแม่สา จำกัด ได้ให้ข้อมูลกับคณะผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 ว่า ในช่วงโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวหายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้รายรับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ควาญช้าง และค่าอาหารช้างจำนวนกว่า 70 เชือก ฯลฯ
แต่ตนก็พยายามหาหนทางที่จะทำให้ปางช้างแม่สา ดำเนินการต่อไปได้ เพราะถึงแม้ปิดกิจการลงชั่วคราว แต่ก็ยังมีภาระต่างๆ อยู่ โดยเฉพาะค่าอาหารสำหรับช้าง 70 เชือก ปางช้างแม่สาจึงเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการจากเก็บค่าเข้าชม เป็นเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรี โดยสามารถซื้ออาหารที่จัดไว้ในตระกร้าตามจุดต่างๆ เพื่อให้อาหารช้างได้
และจากที่เมื่อก่อน ปางช้างแม่สาใช้คราญช้าง 1 คน ดูแลช้าง 1 เชือก ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นควาญช้าง 1 คน ดูแลช้าง 3 -4 เชือก เป็นต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยังมีรายได้ และช้างได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป
งดโชว์ช้างแสนรู้ กิจกรรมที่ขึ้นชื่อของปางช้างแม่สา
อีกไฮไลต์ของปางช้างแม่สาที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของสถานที่แห่งนี้ ก็คือช้างแสนรู้ที่ได้รับการฝึกฝนให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ เตะบอล เล่นดนตรี เดินพาเหรด ฯลฯ แต่เพื่อลดรายจ่ายลง ทำให้ทางปางช้างแม่สาจำเป็นต้องงดโชว์เหล่านี้ แต่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็เริ่มสัญญาณที่ดี จากการที่ปางช้างแม่สาจัดงานแต่งงานช้างขึ้น ระหว่างพลายอ๊อด วัย 39 ปี กับพังแม่แป้น วัย 23 ปี ซึ่งกลายเป็นข่าวน่ารักๆ ที่สร้างสีสันให้กับวันวาเลนไทน์ในปีนี้
และถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่หากสถานการณ์การระบาดของโควิดทุเลาเบาบางลง ทางปางช้างแม่สา จะกลับมาจัดกิจกรรมต่างๆ ในแบบฉบับจัดหนักจัดเต็มตามสไตล์ปางช้างแม่สา ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของโชว์ เรื่องของอีเวนต์เป็นยิ่งนัก
เปิดรับบริจาค ช่วยเหลือช้าง 70 เชือกของปางช้างแม่สา
แม้ตอนนี้ปางช้างแม่สา จะเปิดให้บริการ แต่ก็ไม่สามารถเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบจนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย แต่ชั่วโมงนี้ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะความอยู่รอดของช้าง 70 เชือก ซึ่งในจำนวนนี้มีช้างสูงวัยเป็นจำนวนมาก ที่ทางปางช้างแม่สาได้สร้างบ้านพัก พร้อมห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ความดูแลอย่างใกล้ชิด
มูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทย ของปางช้างแม่สา จึงเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือช้างเหล่านี้ โดยผู้มีจิตเมตตาสามารถ บริจาคได้ที่บัญชี “มูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทย(Elephant Conservation Foundation)” หมายเลขบัญชี 531-0-66551-7 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขากาดสวนแก้ว
และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของปางช้างแม่สาในช่วงวิกฤต ที่ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องสู้เพื่อความเป็นอยู่ของช้าง ที่ผู้ก่อตั้งและผู้สืบทอดกิจการรักและผูกพัน ด้วยความหวังว่าต้องการให้ปางช้างแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ช้างไทย สืบต่อไปตราบนานเท่านาน
หมายเหตุ : หากผู้บริจาคต้องการใบเสร็จรับเงินของมูลนิธิฯ โปรดแจ้งคุณรัตนา ศรีหมอก ผู้จัดการปางช้าง เบอร์โทร 081-882-3738, 089-838-4242, 053-206-247, 053-206-248