ภาพถ่ายการแสดงใต้น้ำของช้างในประเทศไทย ชนะรางวัล Wildlife Photographer of the Year 2021 สาขา Photojournalist ที่ภาพเน้นสื่อความหมายของการทารุณกรรม ทรมาน กักขังและลิดรอนสิทธิของสัตว์ป่า
ผลการประกาศเป็นเอกฉันท์แล้วในปีนี้กับรางวัลภาพถ่ายสัตว์ป่าจากทั่วโลกในงาน “Wildlife Photographer of the Year 2021" งานประกาศรางวัลนี้จัดขึ้นทุกปี โดยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอน งานนี้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นงานแข่งขันประกวดภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงมายาวนานที่สุด
ในปี 2021 นี้ ได้มีการประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศเมื่อวันอังคารที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางพิพิธภัณฑ์เผยว่าการแข่งขันได้เสียงตอบรับดีมาก มีผู้สนใจเข้าร่วมประชันกว่า 50,000 รายจาก 95 ประเทศเลยทีเดียว และปีนี้ก็เป็นปีที่ 57 แล้ว โดยการตัดสินผู้ตัดสินจะไม่อนุญาตให้เปิดเผยตัวตน แต่แน่นอนว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติในเรื่องของความสร้างสรรค์ การเล่าเรื่อง และความเป็นเลิศทางเทคนิค รวมไปถึงการมองความกลางด้ายจริยธรรม
รูปที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Grand Title ในปีนี้ตกเป็นของช่างถ่ายภาพใต้น้ำชาวฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นนักชีววิทยาอย่าง Laurent Ballesta เขาเรียกผลงานของตัวเองว่า “การรังสรรค์” (Creation) เป็นภาพถ่ายการจับปลา Camouflage grouper ที่หาดูได้ยาก โดยปลากำลังบ้าคลั่งในการผสมพันธุ์ใต้น้ำลึก
แต่มีภาพหนึ่งที่เสียงแตกและมีการวิพาร์กวิจารณ์กันคือภาพของช้างไทยที่กำลังทำการแสดงใต้น้ำ ถ่ายโดยช่างภาพชาวออสเตรเลีย Adam Oswell ใช้ชื่อรูปว่า “Elephant in the room” ได้รับรางวัลสาขาภาพที่สื่อความหมายของการทรมานสัตว์ ซึ่งที่จริงการแข่งขันสาขานี้มีผู้เข้าชิงอื่นๆด้วยที่ภาพสื่อความหมายได้ชัดเจน เช่น ลิงถูกล่ามโซ่, อุรังอุตังหันหลังเกาะกรงเหล็ก, หอยที่ถูกชาวบ้านเก็บมาขายเป็นของชำร่วย, ค้างคาวและซากจระเข้ที่ถูกไฟป่าครอก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกวดภาพถ่ายสัตว์โลกสุดฮารอบไฟนอลประจำปี 2021 ประชาชนทั่วไปร่วมโหวตได้!
สำรวจสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 10 สายพันธุ์แห่งปี 2021 ที่ต้องเร่งอนุรักษ์แล้ว!
สัตว์สูญพันธุ์จำนวนมากในรอบ 100 ปี และจะเพิ่มขึ้นอีกด้วยน้ำมือมนุษย์
เปิดภาพถ่ายสัตว์ป่า ผ่านเข้ารอบ Wildlife Photographer of the Year 2021
แต่ในกรณีของประเทศไทย ก็มีเสียงแยกออกเป็นสองเสียงว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์ของไทย เอามาทรมานหาเงินเข้ากระเป๋ามนุษย์ง่ายๆ ทรมานและลิดรอนสิทธิสัตว์ เพื่อสร้างความสนุกความบันเทิงให้มนุษย์เท่านั้น แต่อีกเสียงก็ตอบกลับว่า ทีลิงไทยยังใช้เก็บมะพร้าวได้เลย หรือช้างก็เป็นช้างเลี้ยง เป็นการยากที่จะกลับเข้าไปอยู่อาศัยในป่า รวมไปถึงควาญช้างก็น่าจะมีวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม
ในด้านกลับกัน องค์การสวนสัตว์ก็ได้ออกมาอธิบายให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องของการเลี้ยงช้างในสวนสัตว์และบทบาทของสวนสัตว์ในประเทศไทยไว้ว่า
ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยและมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ (endangered) เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่นบุกรุกป่า ล่าสัตว์ ดังนั้นสวนสัตว์เป็นแหล่งพึ่งพิงของช้าง ด้วยการดูแลช้างไม่ให้สูญพันธุ์และถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน ให้เกิดความตระหนัก ความหวงแหนทรัพยากรสัตว์ป่า
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ภายใต้สมาชิกสมาคมสวนสัตว์โลก (World Association of Zoos and Aquariums: WAZA) และ (Southeast Asia Association of Zoos and Aquariums: SEAZA) มีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ตามหลักมาตรฐานสากล 5 Domains คือ ด้านโภชนาการ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม และจิตใจ มีการประเมินด้านสวัสดิภาพสัตว์โดยพนักงานสวนสัตว์ สัตวแพทย์ทุกวัน และมีหน่วยงานภายนอกมาร่วมประเมินทั้งคณะกรรมการด้านสวัสดิภาพสัตว์ของ WAZA และ SEAZA รับรองมาตรฐาน
ทำไมสวนสัตว์ ต้องให้ดูช้างผ่านห้องกระจก หรือ “จับช้างมาใส่ตู้”
เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะสวนสัตว์มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอเพื่อให้สัตว์ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ พร้อมมีควาญช้างคอยดูแล ทั้งพาออกกำลังกายจะได้ไม่เครียด หาอาหาร อาบน้ำให้ เป็นต้น
การลงเล่นน้ำเป็นธรรมชาติของช้างเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ช้างสามารถลอยตัวในน้ำและหายใจด้วยงวง ช้างสามารถว่ายน้ำได้ไกล การลงอาบน้ำยังช่วยกำจัดแมลง สิ่งสกปรกบนตัวช้าง ให้ผิวหนังมีสุขภาพดีด้วย
วัตถุประสงค์ของการจัดส่วนแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เห็นพฤติกรรมช้างขณะว่ายน้ำนั้นเป็นเรื่องพิเศษหาเรียนรู้ได้ยาก เราพาเด็กๆไปเรียนรู้พฤติกรรม การเคลื่อนไหวของช้างว่ายน้ำอย่างใกล้ชิด โดยมีวิทยากรเล่าเรื่องราวชีวิต พฤติกรรม ชีววิทยาของช้าง ให้เด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้ เกิดความรักและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆและครอบครัวร่วมกันอนุรักษ์ช้างไทย
ช้างที่ลงเล่นน้ำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้นั้นได้รับการฝึกในเชิงบวก (positive reinforcement) คือ การให้รางวัลเมื่อแสดงพฤติกรรมได้ถูกต้อง ซึ่งนิยมใช้อาหารเป็นรางวัล ไม่ลงโทษให้สัตว์ทรมาน ที่ต้องฝึกในช่วงแรกเพราะช้างยังไม่คุ้นชินกับสถานที่ จึงให้ควาญพาช้างลงน้ำ ปัจจุบันช้างซึ่งเป็นสัตว์แสนรู้ สามารถเลือกลงน้ำได้เอง ไม่มีใครบังคับ นี่คือการให้ทางเลือกกับสัตว์
เราใส่ใจถึงความเครียดที่อาจเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงไขคำตอบให้โดยการสังเกตพฤติกรรมของช้าง ร่วมกับการตรวจฮอร์โมนความเครียด (cortisol) ซึ่งพบว่าการที่ช้างได้ออกกำลังกาย เล่นน้ำ ส่งผลดีต่อตัวสัตว์ ช้างที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะมีระดับความเครียดปกติ แน่นอนหากเกิดความผิดปกติกับช้าง พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ควาญช้างผู้รู้ใจจะต้องรีบแจ้งให้ทางสัตวแพทย์เข้ามาดูแลอย่างทันที
ทั้งนี้ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ก็ได้ขอความร่วมมือจากข้อความนี้เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่ถูกต้อง สื่อสารออกไปในวงกว้าง แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรบ้าง
ที่มาข้อมูล npr.org และ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย