svasdssvasds

หุ้น Facebook ร่วง พาล้มทั้งกระดาน เทียบบทเรียน 25 ปีก่อน "ยุคฟองสบู่ดอทคอม"

หุ้น Facebook ร่วง พาล้มทั้งกระดาน เทียบบทเรียน 25 ปีก่อน "ยุคฟองสบู่ดอทคอม"

หุ้น Meta ร่วง หลัง Facebook เผยผลประกอบการรายได้ไตรมาสสุดท้ายปี 2021 พาหุ้นต่างๆ ล้มทั้งกระดาน เทียบกับบทเรียน 25 ปีก่อน "ยุคฟองสบู่ดอทคอม"

จากการที่ Facebook เผยผลประกอบการมีรายได้สุทธิประมาณ 1.03 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.4 แสนล้านบาท) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2021 ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ของ Wall Street คาดการณ์ไว้

กำไรที่ลดลงอย่างมากมาจากการขาดทุนในธุรกิจ Metaverse มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.3 แสนล้านบาท) โลกเสมือนแห่งอนาคตที่บริษัทหมายมั่นว่านี่คืออนาคตของบริษัทและทุ่มลงทุนอย่างเต็มที่ จนถึงขนาดเปลี่ยนชื่อจาก Facebook เป็น Meta ในปลายเดือนตุลาคมเสียด้วยซ้ำ

การรายงานผลประกอบการทำให้หุ้นของ Meta ร่วงกว่า 26% คิดเป็นมูลค่า 2.4 แสนล้านดอลลาร์ (7.9 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้การร่วงของหุ้น Meta ไม่ใช่แค่ผลประกอบการที่ลดลงจากการขาดทุนใน Metaverse แต่รวมไปถึงความท้าทายต่อธุรกิจหลักอย่างโฆษณา จากความเปลี่ยนแปลงของ iOS ที่ Apple ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้การยิงโฆษณาส่วนบุคคลเป็นไปได้ยากมากขึ้น และสุดท้ายจากการที่ผู้ใช้งาน Facebook รายวันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาลดลง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

ในเดือนตุลาคมนอกจากข่าวดีที่ Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta แล้ว ยังถือเป็นเดือนเดียวกันกับที่ Facebook ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้ง เหตุการณ์ Facebook , Instagram และ WhatsApps ล่มในวันที่ 4 ต.ค. 2021 จากการส่งคำสั่งผิดพลาดในคอนฟิกเราท์เตอร์ สั่งให้เซิฟเวอร์ของบริษัทในเครือทั้งหมด "ตัดตัวเองออกจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต" ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่หน้าบ้านจากผู้ใช้งานที่ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซค์ต่างๆ ได้ แต่ยังรวมไปถึงทีม Web Engineer (วิศวกรเครือข่าย) ก็ไม่สามารถเข้าหลังบ้านได้ด้วยเช่นกัน

จากการหายไปของ Facebook , Instagram และ WhatsApps นานกว่า 6 ชั่วโมงจากหน้าอินเทอร์เน็ต ยังมาซ้ำเติมด้วย "ฟรานเชส เฮาเกน" (Frances Haugen) อดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์ Facebook วัย 37 ปี ที่ออกมาเปิดโปงผ่านรายการ "60 Minutes" ช่อง CBS ถึงความจริงอันดำมืดของบริษัท ว่า Facebook-Instagram ทราบดีถึงผลกระทบในการใช้งานสื่อของตน ทั้งการสร้างความเกลียดชังในสังคม (โดยเฉพาะด้านการเมือง) การไซเบอร์บูลลี่ที่มีผลอย่างมากต่อเด็กสาววัยรุ่น และ Fake News

แต่ Facebook กลับนิ่งเฉย เพราะเห็นถึงความสำคัญต่อรายได้ของบริษัทมากกว่าผลกระทบต่อสังคม

อย่างที่รู้กันดีว่า Facebook ขึ้นศาล ขึ้นสภาคองเกรส สอบสวนถึงผลกระทบจากการใช้งานมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เพียงหนึ่งวันก่อนที่ Facebook จะเปลี่ยนชื่อเป็น Meta อัยการสหรัฐฯ ฟ้อง "มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก" (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง-ซีอีโอ Facebook ในวันที่ 28 ต.ค. เหตุ Facebook ขายข้อมูลของผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านบัญชีให้กับ "แคมบริดจ์แอนาไลติกกา" (Cambridge Analytica) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเมือง ที่รับผิดชอบการรณรงค์หาเสียงของ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จนทำให้ Facebook ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญต่อรายได้ที่ลดลงของ Facebook คือจำนวนผู้ใช้งานรายวันที่ลดลง และศัตรูคนสำคัญที่แม้แต่มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ยังต้องออกตัวในโพสต์ 7 แผนธุรกิจที่ Meta วางไว้ในปี 2022 อย่าง TikTok แอพลิเคชั่นวีดิโอสั้นสัญชาติจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนทำให้ยอดผู้ใช้งานวัยรุ่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แม้ Facebook จะแก้เกมด้วยการออกฟีเจอร์วีดิโอสั้น Reels ใน Instagram ตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 แต่ก็ยังตามหลัง TikTok อยู่มาก และมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ระบุว่า "จะทุ่มความสำคัญให้กับ Reels ในระยะยาว เพื่อให้แน่ใจว่าแอพของเราเป็นบริการที่ดีที่สุดสำหรับคนหนุ่มสาว"

"อดัม มอสเซรี" (Adam Mosseri) หัวหน้า Instagram รูปจาก Meta

แต่ Instagram ก็อยู่ในสถานะที่ไม่ต่างจาก Facebook เพราะวันที่ 8 ธ.ค. 2021 "อดัม มอสเซรี" (Adam Mosseri) หัวหน้า Instagram เผชิญคำถามจากสภาฯ เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยสำหรับเด็ก

แม้ Instagram เคยวางระบบ Instagram for Kids หรืออินสตาแกรมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ก็ถูกพับโครงการไปตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2021 รวมถึงออกฟีเจอร์ "Take a Break" เพียงหนึ่งวันก่อนที่อดัม มอสเซรี ขึ้นสภาฯ

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเหตุผลได้ว่าทำไม Meta ถึงมีผลประกอบการลดลง 8% โดยมีกำไรต่อหุ้นที่ระดับ 3.67 ดอลลาร์ (121.04 บาท) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.84 ดอลลาร์ (126.64 บาท)

แต่ไม่ใช่หุ้นของ Meta ที่ร่วงเพียงอย่างเดียว แต่ยังพาหุ้นทั้งกระดานล้มไปด้วยดัชนี NASDAQ Composite (COMP) ลดลง 3.7% หรือ 538.73 จุด ปิดที่ 13,878.82 และดัชนี S&P 500 (SPX) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กว้างที่สุด ร่วงลง 2.4% ลดลง 111.94 จุด สู่ 4,477.44 ในขณะที่ดัชนี DOW (INDU) ดีขึ้นเล็กน้อย ซื้อขายลดลง 1.5% แต่นั่นก็ยังลดลงเกือบ 520 จุด สู่ 35,111.16

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หุ้นบริษัทเทคโนโลยีพาทั้งกระดานร่วง

ย้อนกลับไปช่วงปี 1995-2000 ตอนนั้น สหรัฐอเมริกาเคยเกิดภาวะฟองสบู่ ที่เรียกว่า "Dot-com bubble" หรือ ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอม (ฟองสบู่อินเทอร์เน็ต) ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ใครหลายคนวาดฝันว่า อินเทอร์เน็ตจะสามารถทำการเชื่อมต่อผู้คน จนถึงกระทั่งการค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันก็สามารถทำได้จริงทั้งหมดแล้ว

แต่ในสมัยนั้นอินเทอร์เน็ตเพิ่งมาถึง ด้วยการเปิดตัวเว็บเบราว์เซอร์ในปี 1993 ทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึง World Wide Web (WWW) จากปี 1990-1997 ครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาที่เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 35% และจากแต่ก่อนที่มองว่า "คอมพิวเตอร์เป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือยไปสู่สินค้าจำเป็น"

ในขณะเดียวกัน "อลัน กรีนสแปน" (Alan Greenspan) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System: FED) ในขณะนั้น ได้ลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตทั้งหลายที่ลงท้ายด้วย ".com" (ดอทคอม) มีความพร้อมด้านเงินทุนเพิ่มสูงขึ้น

เพียง 4 ปี จากปี 1996-2000 ดัชนี NASDAQ ที่เต็มไปด้วยบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายพุ่งทะยานอย่างมาก จาก 600 ไปถึงจุดสูงสุดที่ 5,048 ในปี 2000 หรือขึ้นมากกว่า 10 เท่า จากการที่หุ้นเทคโนโลยีราคาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากราคา IPO ตั้งแต่วันแรกที่เข้าตลาดหุ้น เรียกได้ว่าทำกำไรได้ง่ายและเร็วมาก จนทำให้เหล่านักลงทุนให้ความสนใจอย่างมาก

ดัชนี NASDAQ Composite (COMP) ยุคฟองสบู่ดอทคอม

โดยที่บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากมาจากความคิดของคนที่เพิ่งจบใหม่จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ยังไม่มีแนวทางการทำธุรกิจที่ชัดเจน และไม่มีแม้แต่ผลประกอบการด้วยซ้ำ

แต่จากการที่หุ้นเหล่านี้พุ่งขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้เหล่านักลงทุนละเลยพื้นฐานการวิเคราะห์การลงทุน จนสุดท้ายมาพบว่าตัวเองพบเข้ากับฟองสบู่ฟองใหญ่เพียงเท่านั้น จนสุดท้ายดัชนี NASDAQ ร่วงจากจุดสูงสุดที่ 5,048 เหลือเพียง 1,114 ในวันที่ 9 ต.ค. 2002 ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้นในการหาจุดต่ำสุด แต่อย่างน้อย NASDAQ ก็โตขึ้นจากปี 1996 ที่ราว 600 จุด มาถึง 1,100 จุด เฉลี่ยแล้วปีละกว่า 8%

การเก็งกำไรหุ้นเทคโนโลยีจนเกินพื้นฐานความเป็นจริง และปั่นราคาไปเรื่อยๆ ในตอนนั้น อาจเป็นหนังม้วนเก่ากลับมาฉายใหม่ในตอนนี้ จากการที่ให้หุ้น Meta บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงมาก การแกว่งตัวครั้งใหญ่ของราคาหุ้นจึงสามารถจมหรือยกดัชนีตลาดในวงกว้างได้ การร่วงลงครั้งนี้ของ Meta ยังส่งผลต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ต่ำลง อาทิ Amazon , Etsy , Pinterest และ Twitter

ตอนนั้นเป็นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ตอนนี้เป็นเทคโนโลยีมากมายที่อยู่ในโลก Metaverse หรือนี่เป็นแค่การเปลี่ยนบทบาทใหม่จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ?

related