ธปท.-ก.ล.ต.-คลัง ร่าง 6 เกณฑ์คุม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ห้ามชำระค่าสินค้าเเละบริการ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 8 ก.พ.65 นี้
“สินทรัพย์ดิจิทัล” มีพัฒนาการรูปแบบการใช้งานตามลำดับเพื่อการลงทุน การซื้อขาย ในปัจจุบันจะห็นได้ว่ามีการนำไปใช้ในรูปแบบอื่นโดยเฉพาะการเอานำมาชำระค่าสินค้า และค่าบริการ ที่นอกเหนือจากการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล
ล่าสุดพบว่ามีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น เช่นการชักชวนให้บริการแก่ร้านค้าหรือผู้ประกอบกิจการในร้านค้าต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
ความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลงแตกต่างกันสูงมาก ทำให้มีความเสี่ยงหากนำไปชำระสินค้าและบริการ เช่น การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปซื้อสินค้าที่มีราคาเท่ากัน อาจต้องใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในจำนวนที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ตามการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงหากนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นตัวกลางในการรับชำระสินค้าและบริการ อาจทำให้เกิดระบบการรับชำระเงินในหลายๆ ระบบ จนเกิดหน่วยวัดมูลค่าหรือหน่วยการตั้งราคานอกเหนือจากสกุลเงินบาท ซึ่งจะเป็นต้นทุนต่อผู้ใช้บริการ จากการที่มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ไปมา สุดท้ายต้นทุนเหล่านั้นจะกระทบกับต้นทุนการชำระเงินของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ห้าม ใช้ คริปโต สินทรัพย์ดิจิทัล แต่เร่งแนวทางดูแล
• ไม่เก็บ "ภาษีคริปโต" ไม่บล็อกโอกาสเข้าถึง "สินทรัพย์ดิจิทัล" ได้หรือเปล่า?
• ภาษีคริปโต ใครต้องจ่าย เก็บยังไง เก็บตอนไหน เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง (กค.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment)
จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น โดยคำนึงถึงทั้งการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป
ร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
• ไม่โฆษณาเชิญชวนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า ว่าสามารถรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
• ไม่จัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพื่อรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
• ไม่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้าเพื่อรับชำระ
• การขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาท ต้องโอนเข้าบัญชีตัวเองเท่านั้น
• ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล/เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าเเละบริการ
• ไม่ดำเนินการอื่นใดที่จะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ตาม ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 ก.พ.2565 เพื่อรวบรวมความคิดเห็น โดยในกรณีที่ข้อเสนอแนะกระทบต่อหลักการก็จะมีการเสนอบอร์ด ก.ล.ต.เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่ในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก.ล.ต.จะดำเนินการออกประกาศและบังคับใช้ได้ภายในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้เกณฑ์กำกับ ก.ล.ต.จะประกอบด้วย 5 ประเภทคือ
• ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)
• นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker)
• ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer)
• ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service)
• ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager)
ด้านนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัล แอสเซท) และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น แนวทางกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ โดย ธปท.มีจุดยืนคือ ห้ามนำสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ ยกเว้นการใช้เพื่อลงทุนเท่านั้น