"มาดามเดียร์" วทันยา วงษ์โอภาสี เผยเบื้องหลังประชุมกมธ.การเงินฯ เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องชี้แจง ย้ำเก็บ"ภาษีคริปโต-หุ้น" ต้องศึกษาผลกระทบรอบด้าน
เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เมื่อวานนี้ในที่ประชุมกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ มีการพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล
ซึ่งได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในประเด็นนี้มาชี้แจง ประกอบไปด้วย กรมสรรพากร, ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย, สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO และผู้ก่อตั้ง Itax
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
มาดามเดียร์ ถาม เก็บภาษีหุ้น-คริปโตฯ เป็นการช่วยประเทศหรือทำร้ายประเทศ ?
“มาดามเดียร์” โพสต์งดออกเสียง “อนุทิน” ปมจัด “ซื้อวัคซีนซิโนแวค - ATK
ประเด็นที่น่าสนใจไว้ในโพสต์นี้ค่ะ
1. คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ การเก็บภาษีหุ้นจะกระทบกับสภาพคล่องของตลาดให้ลดลงอย่างน้อย 40% เพราะนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนระยะสั้นจะหายไป เพราะต้นทุนการซื้อขายจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะกรณีของนักลงทุนต่างชาติที่จะทำให้ต้นทุนกระโดดขึ้นไปกว่า 160% หรือเกือบ2 เท่าภายในเวลาเดียว ซึ่งสภาพคล่องของตลาดทุนนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการดึงดูดนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้การระดมทุนของผู้ประกอบการธุรกิจไทยจากตลาดหลักทรัพย์ประสบความสำเร็จ
2. ดร. ภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯชี้แจงว่าภาครัฐมีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำเงินไปใช้สร้าง Infrastructures ของประเทศทำให้ประเทศสามารถประหยัดงบประมาณไปได้กว่า 2.5 แสนล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว การรักษาสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการรักษาระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทางตลาดหลักทรัพย์ยังมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศสวีเดนที่มีการจัดเก็บภาษีอากรแสตมป์ ส่งผลให้การระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนนั้นมีต้นทุนที่สูงขึ้นจน บริษัทจดทะเบียนต้องย้ายตลาดไปที่ประเทศอื่นๆแทน สุดท้ายการจัดเก็บภาษีของประเทศสวีเดนก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งยังจัดเก็บภาษีได้ลดลงจากเดิม 50%
นอกจากนั้นยังมีการศึกษาของแวนการ์ด พบว่าถ้าเก็บภาษี Transaction Tax 0.1% จะทำให้การออมเพื่อวัยเกษียณ ของคนอเมริกันจากเดิมต้องใช้ 40 ปีจะยืดไปเป็น 43 ปี หมายความว่าต้องมีการออมเพิ่มขึ้นอีก 3 ปีเพื่อให้เพียงพอ
3. ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO และผู้ก่อตั้ง Itax ให้ข้อมูลว่าการจัดเก็บภาษีที่จะต้องยื่นแบบเงินได้ส่วนบุคคลในปีนี้ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีรายได้ของปี 2564 ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะนักลงทุนยังไม่ได้เตรียมตัว นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้ อีกทั้งโดยปรกติการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ซื้อหรือผู้ขายก็จะต้องยื่นเอกสารประกอบการเสียภาษีโดยมีหลักฐานการชำระเงินจากผู้ทำธุรกรรมร่วม ซึ่งในการเทรดคริปโตเคอร์เรนซี เป็นการซื้อขายผ่านกระดานเทรด การระบุตัวตนผู้ซื้อหรือผู้ขายเพื่อยำไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นเสียภาษีจึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ นอกจากนี้หากเราผลักดันโอกาสในการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยให้สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมนานาชาติได้ โอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจที่จะทำให้สรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าธรรมเนียมการเทรดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภายภาคหน้ามากกว่า การจัดเก็บภาษีจากผู้ลงทุนซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรม
4. คุณพีรเดช ตันเรืองพร นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ระบุว่าการจัดทำข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนและกรมสรรพากรเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้จริง ทางฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจ ก็ไม่ได้เตรียมบุคลากรและระบบเพื่อรองรับการจัดเก็บหลักฐานเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการชำระภาษี และหากจะมีการจัดทำระบบเพื่อให้สรรพากรจัดเก็บภาษีได้จริงก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าอีก 1 ปีในการพัฒนาระบบ ซึ่งตรงนี้ยังมีอุปสรรคอยู่มาก นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวอาจเป็นแรงจูงใจทำให้กลุ่มนักลงทุนพยายามเปิดบัญชีในชื่อบุคคลอื่นเพื่อหลบเลี่ยงการชำระภาษีในฐานสูง ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่สามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย พร้อมทั้งยากต่อการติดตามการป้องกันธุรกรรมการฟอกเงินในอนาคต
5. คุณชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนะใน 3 ประเด็นคือ 1) เรื่องการคำนวณ capital gain tax ที่เป็นธรรม 2) ปัญหาข้อมูลบัญชีผู้เทรดที่อาจจะบิดเบือน หากนำเอาบัญชีผู้อื่นมาเทรดเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี 3) ภาพรวมอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอยู่นี้ อยากให้พิจารณาเปรียบเทียบ ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจรายได้บุคคลจากการจ้างงาน และธุรกิจเอกชน ว่าจะมีมูลค่าที่สูงและคุ้มค่ากว่าการเก็บภาษีจากการเทรดหรือไม่
6. คุณปริญญ์ พาณิชภักดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้ให้ข้อเสนอแนะไปยังสรรพากรถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อนักลงทุนก่อนมีการจัดเก็บภาษีนักลงทุนเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งได้ขอให้สรรพากรประเมินถึงผลกระทบทั้งในระยะสั้น กลางและยาว ความคุ้มได้คุ้มเสียของประเทศระหว่างการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตไปพร้อมๆกับโอกาสของนักลงทุนซึ่งจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากการเติบโตในอนาคตมากกว่าการเร่งจัดเก็บภาษีในช่วงเวลาที่ยังขาดความพร้อม และทำให้อุตสาหกรรมต้องหดตัวลงโดยไม่จำเป็น
6. กรมสรรพากร
แจ้งว่ากรมฯมีหน้าที่จัดเก็บรายได้เพื่อหาเงินเข้าคลัง แต่ยอมรับว่ายังไม่ได้พิจารณาผลกระทบเรื่องสภาพคล่องหากมีการจัดเก็บภาษีหุ้น อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีหุ้นยังอยู่เพียงช่วงระหว่างการศึกษาเท่านั้น การจัดเก็บภาษีคริปโตฯก็ยังมีปัญหาในการปฏิบัติจริง และจะบังคับใช้เมื่อได้ทำการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ตอนนี้กำลังศึกษาผลกระทบรอบด้านอยู่ แต่ที่ได้ดำเนินการมาบางส่วนคือ การประเมินการกระจายความเป็นธรรมในโครงสร้างการจัดเก็บภาษี ในส่วนของผลกระทบด้านสภาพคล่องของตลาดตามที่คุณไพบูลย์ชี้แจงยังต้องขอข้อมูลเพิ่มเพื่อประกอบการพิจารณา อยากบอกว่า ภาษีมีหน้าที่อำนวยรายได้ให้แก่รัฐ ซึ่งจุดนี้ยกเว้นมาแล้ว 30 ปี โดยปลายปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์ฯโตมา 22 เท่าจากปี 2534 การจัดเก็บภาษีที่ 0.1 จึงมองว่าไม่ได้เยอะเกินไป โดยศึกษาจากรายงานของ ADB การเก็บ FTT ภาษี 94% ปกติมาจาก นักลงทุนรายใหญ่ แสดงว่าภาษีนี้อยู่กับกลุ่มคนมีรายได้สูง ปัจจุบันได้ศึกษาในส่วนของต้นทุนผู้ลงทุน โดยเทียบกับค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์และภาษีค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ที่คิดเป็น 90% ของ transaction cost ของนักลงทุนในปัจจุบัน เทียบกับมาเลเซียถือว่ายังไม่สูงเกินไป ในขณะที่ฮ่องกงนั้นเก็บทั้งฝั่งซื้อและขาย ต้นทุนการเทรดของไทยอยู่ราวๆ 0.22% ถือว่ายังต่ำกว่าบางประเทศ
นอกจากนี้แทบทุกประเทศในอาเซียน อย่างน้อยมีการเก็บภาษีตัวใดตัวนึงอย่างฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เก็บทั้ง Capital Gain Tax และ Transaction Tax ดังนั้นไทยถือว่าจัดเก็บภาษีน้อยเมื่อเทียบหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าคงสร้างผลกระทบแต่ไม่มากนัก สำหรับตลาดคริปโตฯ สรรพากรทราบผลกระทบอยู่แล้ว และได้ร่วมหารือกับภาคเอกชนแล้ว ทุกข้อเสนอแนะเรารับทราบและพยายามปรับปรุงอยู่ ทั้งวิธีการคำนวนแบบ Capital Gain Tax กำลังศึกษาเรื่องการปรับกฏหมาย และอนาคตของตลาดกำลังศึกษาว่าจะให้ Exchange เก็บแทน หรือ เก็บแบบ FTT ที่กระทบรายย่อยน้อยที่สุด ยังอยู่ระหว่างทำแบบสอบถามกับนักลงทุน เรื่องการบันทึกการลงทุนของนักลงทุนว่าจะเป็นในรูปแบบไหน
เดียร์คิดว่าการประชุมเมื่อวานเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกฝ่ายได้นำเสนอข้อมูลให้รับทราบร่วมกัน กรมสรรพากรก็ได้รับฟังข้อมูลรอบด้านจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้จะมีการศึกษา และวิเคราะห์ ถึงผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างถี่ถ้วน อย่าให้เข้าทำนองดังที่ประธานกรรมาธิการได้ให้ข้อสรุปว่า “เชือดไก่เพื่อเอาไข่” ค่ะ