"มาดามเดียร์-ศิริพงษ์" ส.ส.พปชร. ลงพื้นที่ตรวจโควิดเชิงรุก เขตหนองจอก พบ ติดโควิด 20% ระบุ รัฐบาลมีงบแต่ไม่จัดสรรให้ระบบ สธ.โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ส่วนการเยียวยา "ล็อกดาวน์" ยังไม่ทั่วถึง
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม.เขตหนองจอก พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ตรวจโควิดเชิงรุกให้กับประชาชน เขตหนองจอก
นายศิริพงษ์ กล่างว่าการลงพื้นที่ตรวจโควิด-19 เชิงรุก ให้เขตหนองจอก นั้น ทำมาตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม จนถึงวันนี้ รวมทั้งสิ้น 6 วันแล้ว ซึ่งเขตหนองจอกมีทั้งหมด 8 แขวง แต่ให้บริการตรวจเชิงรุกทั้งหมด 6 จุด ซึ่งในแต่ละจุดมีประชาชนมาใช้บริการตรวจกว่า 1,000 คน โดย 6 วัน มีจำนวนประชาชนมาตรวจทั้งหมดประมาณ 7,000 คน โดยมีผู้พบเชื้อจำนวน 1,300 คน หรือ 20% ซึ่งตนมองว่าสถานการณ์ยังคงรุนแรงอยู่ในเขตพื้นที่ชานเมืองเช่นนี้
อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่อหากพบผู้ที่ติดเชื้อคือนำผู้ป่วยไป Swap อีกรอบ จากนั้นพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและจ่ายยา ซึ่งส่วนใหญ่จะพบแต่ผู้ป่วยสีเขียว ประมาณ 90% โดยสามารถทำ Home Isolation ได้
ทั้งนี้หากพบผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ทางแพทย์ชนบทจะประสานโรงพยาบาลในบริเวณใกล้ๆเพื่อที่จะนำตัวผู้ป่วยไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล
นางสาววทันยา กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าของวัคซีนว่า ตามที่เคยอภิปรายไปแล้วว่าจริงๆ แล้วทางรัฐบาลมีงบประมาณที่จะมาบริหารจัดการเรื่องของระบบสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและเสียดายคือการที่รัฐบาลไม่นำงบประมาณมาบริหารจัดการของระบบสาธารณสุขเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของวัคซีน ซึ่งในตอนนี้ความต้องการมีมากกว่าจำนวนวัคซีน ดังนั้นในการวางแผนการบริหารวัคซีนที่พลาดพลั้งไป รัฐบาลควรมีแผนสำรอง ส่วนตัวนั้นเข้าใจว่าหน่วยงานทุกภาคส่วนกำลังพยายามเร่งหาวัคซีนให้ได้ตามความต้องการของประชาชน แต่อย่างไรก็ตามการที่จะจัดซื้อวัคซีนในห้วงเวลาที่ช้ากว่าประเทศอื่นถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างนึง และสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลควรจำทำให้ประชาชนคือการทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้อีกหนึ่งปัญหาคือการที่ประชาชนจะเข้าถึงการรักษาระบบสาธารณสุขได้คือต้องผ่านการตรวจแบบ RT-PCR เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยากมาก หากไปเข้าตามสิทธิขั้นตอนของรัฐบาลนั้นก็เข้าถึงยาก แต่หากประชาชนจะไปตรวจเองที่ รพ.เอกชน ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ส่วนการตรวจแบบ Antigen test ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมานั้นคือการเข้าถึงเตียงนั้นก็จะลำบากเนื่องจากต้องใช้ผลการตรวจแบบ RT-PCR อยู่ดี แต่อย่างไรก็ตามประชาชนที่ยินดีที่จะกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือการทำ Home Isolation แต่ตนก็คิดว่ายังยากลำบากในการเข้าระบบดังกล่าวอยู่ดี ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้มีข้อดีอยู่หนึ่งอย่างก็คือ มีหน่วยงานของ สปสช.และทีมแพทย์ชนบท ที่เข้ามาช่วยเหลือในการตรวจเชิงรุกในครั้งนี้ ทั้งนี้เมื่อเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแล และจะได้พบแพทย์ในการเข้าระบบ Home Isolation ทันที เพื่อจะได้รับยามาทานที่บ้าน และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
โดยส่วนตัวแล้วอยากจะเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กทม. จะต้องทำการตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยที่คัดแยกผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสียงสูงออกจากครอบครัวให้ได้ รวมถึงอยากให้แพทย์ชนบทและแพทย์ที่กรุงเทพมหานครผนึกกำลังกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตนเชื่อว่า การตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุก และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุด จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขได้สำเร็จ
ส่วนการที่รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้น ที่ตนเห็นชัดเจน โดยพูดง่ายๆ ว่าเวลาออกไปข้างนอกบ้านจะพบว่ามีคนใช้รถสัญจรจำนวนมาก แม้ ศบค.จะมีคำสั่งล็อกดาวน์เข้มงวดกว่าเดิม แต่ว่าประชาชนก็ยังพลุกพล่านต่างจากบรรยากาศการล็อกดาวน์เมื่อช่วงเมษายนปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่าแทบจะไม่เห็นรถสัญจรบนท้องถนนเลย
ขณะที่ในตอนนี้อาจด้วยสภาพเศรษฐกิจหลังการระบาดระลอกที่ 4 และการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะร้านอาหาร และ SME ซึ่งในภาพรวมถือว่าไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่ได้รับทำให้ประชาชนหลายคนต้องออกมาดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือแต่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมและสัมพันธ์กับสถานการณ์เวลานี้
ทั้งนี้เมื่อดูจากตัวเลขผู้ป่วยที่ผ่านมา ที่เรียกว่าทำสถิติใหม่ทุกวัน และจากที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ไว้ว่า ตัวเลขจะแตะจุดสูงสุดในช่วงเดือนกันยายน ตลอดจนสถานการณ์ที่ประชาชนไม่อาจล็อกดาวน์ตัวเองอยู่กับบ้านได้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ตนมองว่าสถานการณ์โดยรวมยังคงน่าเป็นห่วง อีกทั้งการตรวจคัดกรองเชิงรุกและการบริหารจัดการวิกฤตยังเป็นไปอย่างยากลำบาก หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ก็ไม่อาจคลี่คลายไปในทางดีขึ้นได้แม้แต่น้อย