รถไฟจีน-ลาว มีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง มีผู้ใช้บริการแล้วมากกว่า 6 แสนคน ส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เติบโตต่อเนื่อง ฝ่ายไทยเองก็เริ่มได้ใช้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟสายนี้ เพราะการขนส่งผ่านชายแดนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
รถไฟขนส่งสินค้า จากจีนยังไปลาว หลังเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นับจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 1 เดือน ข้อมูลจากศุลกากรนครคุนหมิง เปิดเผยว่ามีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านหยวน หรือ ราว 5 พัน 200 ล้านบาทแล้ว
ศุลกากรนครคุนหมิงเปิดเผยว่า รถไฟรองรับสินค้า 153 ขบวน เมื่อนับถึงวันที่ 17 มกราคม โดยปริมาณการขนส่งสินค้ารวมอยู่ที่ 59,500 ตัน และมีการขนส่งสินค้ากว่า 100 ประเภท ซึ่งสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา สินแร่เหล็ก และถ่าน ส่วนสินค้าส่งออกชั้นนำ ได้แก่ ผักสด สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน และผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า
ส่วนการขนส่งผู้โดยสาร ผ่านขบวนรถไฟจีน-ลาว ทางรถไฟส่วนที่อยู่ในจีนรองรับรถไฟสูงถึง 31.5 คู่ในแต่ละวัน ขณะจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากประมาณ 19,000 คนต่อวัน ปัจจุบันนี้อยู่ที่ประมาณ 33,000 คน และรองรับผู้โดยสารทั้งหมด 620,000 คนภายใน 1 เดือน
สำหรับฝ่ายไทยการเชื่อมโยงกับรถไฟลาว-จีน จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างรถไฟไทย-ลาว ในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วง “หนองคาย-เวียงจันทน์” โดยฝ่ายไทยมีความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้า ซึ่งมีการรายงานต่อที่ประชุมครม.ว่า จะจัดขบวนรถได้ถึง 14 ขบวน ต่อวัน ขบวนละ 25 แคร่
หลังการเปิดบริการรถไฟลาว-จีน พบว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนหนองคาย เทียบระหว่างเดือนธันวาคมปี 2563 กับเดือนธันวาคมปี 2564 ปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 116,552 ตัน เป็น 304,119 ตัน มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันล้านบาท จาก 4 พัน 600 ล้านบาท เป็น 6 พัน 900 ล้านบาท
ที่ประชุมครม.จึงเห็นชอบ ให้พัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าฝั่งไทย-ลาว เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว
ในระหว่างที่การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่ยังไม่เสร็จ การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขง ในส่วนของการบริหารจัดการสะพานเดิมจะเพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวนต่อวัน รองรับสินค้าขบวนละ 25 โบกี้
ส่วนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ จะก่อสร้างใกล้กับสะพานเดิมอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร มีทั้งรางรถไฟขนาดมาตรฐานและทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าไทยและลาวจะร่วมลงทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย และ ให้เร่งการจัดประชุมไตรภาคีเพื่อหารือแนวทางเชื่อมโยงทางรถไฟ ในเดือนมกราคมนี้
นอกจากนี้จะเตรียมพื้นที่บริเวณสถานี 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศและการเปลี่ยนถ่ายจากทางถนนสู่ระบบราง ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง
ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้า จัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่อง mobile X-ray เพื่อตรวจปล่อยสินค้าและทำพิธีการศุลกากร