หมอเฉลิมชัยระบุ "โอไมครอน" เป็นสายพันธุ์หลักระบาดในไทยแล้ว โดยใช้เวลาเพียง 1 เดือนเข้าแทนที่เดลตา แนะจับตาใช้เวลา 3 เดือนขึ้นสู่จุดระบาดสูงสุด
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun ประเด็น โอไมครอนมาแรงแซงเดลต้าแล้ว เป็นสายพันธุ์หลักถึง 97.1% เบียดเดลต้าลงไปเหลือเพียง 2.8% โดยระบุว่า
"ความรู้เรื่องCOVID-19 (ตอนที่1088) 17 ม.ค. 2565
เป็นที่ทราบกันมาตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมาว่า โอไมครอนเป็นไวรัสที่มีความสามารถในการแพร่ระบาด มากกว่าเดลต้า เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมในส่วนที่สร้างหนามมากกว่าเดลต้า 3.5 เท่า
จึงมีการติดตามสถานการณ์ในประเทศต่างๆว่า โอไมครอนจะเป็นสายพันธุ์หลักของแต่ละประเทศ ในช่วงเวลาสั้นยาวเพียงใด
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีตัวเลขที่ชัดเจนแล้วว่า จากการเก็บตัวอย่างผู้ติดเชื้อในช่วงวันที่ 3-16 มกราคม 2565
ตรวจพบเป็นโอไมครอนมากถึง 97.1% ในขณะที่เดลต้าลดลงไปเหลือเพียง 2.8%
เหตุการณ์ดังกล่าวใช้เวลาเปลี่ยนแปลงเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้นกล่าวคือ
6 ธันวาคม 2564 เริ่มพบเคสแรกของไวรัสโอไมครอน
10 ธันวาคม 2564 โอไมครอนเป็นสัดส่วน 1.5%
11-19 ธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 3.3%
20-26 ธันวาคม 2564 เพิ่มเป็น 28.8%
27-28 ธันวาคม 2564 เพิ่มเป็น 66.5%
2-8 มกราคม 2565 เพิ่มเป็น70.3%
และล่าสุดเก็บข้อมูลช่วง
3-16 มกราคม 2565 โดยศูนย์จีโนมคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบโอไมครอนมากถึง 97.1% และเดลต้าลดลงไปเหลือเพียง 2.8%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• โควิดวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 6,397 ราย เสียชีวิต 18 ราย
• "หมอเฉลิมชัย" เผย 9 ปัจจัย เหตุใดไทยเอาโควิด "โอไมครอน" อยู่ แตกต่างจากยุโรป
• ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผยโควิด-19 ใกล้จบเกม กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
จึงสามารถสรุปได้ว่า โอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักของผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยแล้ว ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว
ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อสะสมที่เป็นโอไมครอนนับเป็นรายคนนั้นพบว่า
20 ธันวาคม 2564 พบสะสม 97 ราย
23 ธันวาคม 2564 พบ 205 ราย เพิ่ม 2.1 เท่า
26 ธันวาคม 2564 พบ 514 ราย เพิ่ม 2.5 เท่า
29 ธันวาคม 2564 พบ 934 ราย เพิ่ม 1.8 เท่า
1 มกราคม 2565 พบ 1551 ราย เพิ่ม 1.7 เท่า
และจนถึงวันที่ 17 มกราคม 2565 พบเกือบ 10,000 ราย
เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แต่ชะลอช้าลงเป็นลำดับ
สรุปได้ว่า
1) ไวรัสก่อโรคโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แพร่ระบาดเร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตามาก
2) ขณะนี้สายพันธุ์หลักในประเทศไทย เป็นโอไมครอนโดยสมบูรณ์แล้ว พบมากถึง 97.1% เดลต้าเหลือ 2.8%
3) จำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในลักษณะอัตราเร่งที่ลดลง
4) ทิศทางของจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป แต่ในลักษณะความชันที่ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก และคาดว่าคงใช้เวลาอีก 1-3 เดือน จึงจะขึ้นสู่พีคสูงสุด หลังจากนั้นจึงจะเริ่มลดลงเป็นลำดับ
และหวังว่าจะไม่มีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ (Pi : พาย) ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าโอมิครอนเกิดขึ้น
เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะมีระลอกที่ห้า โดยไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้น และจะแซงโดยเบียดโอไมครอนให้ตกไป
เหมือนที่โอไมครอนเคยเบียดเดลต้าให้ตกไป เดลต้าก็เคยเบียดอัลฟ่าให้ตกไป และอัลฟ่าเคยเบียดสายพันธุ์อู่ฮั่นให้ตกไปในอดีตนั่นเอง