ย้อนรอย 5 คนดังในแวดวงบันเทิงที่ตัดสินใจจบชีวิต ด้วยโรคซึมเศร้า ภัยร้ายที่จ้องจะกัดกินหัวใจ เป็นมัจจุราชเงียบที่แสนอันตราย คร่าชีวิตคนไปหลายราย
อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า ยังคงเป็นภัยร้ายที่จ้องจะกัดกินจิตใจ ให้เราจมดิ่งกับความทุกข์ เปรียบเสมือนมัจจุราชเงียบที่แสนอันตราย คร่าชีวิตคนมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
และแม้ตอนนี้สังคมส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ช่วยหาหนทางรักษา แต่เราก็ยังได้ยินข่าวคราวร้ายๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยวันนี้ทาง "สปริงบันเทิง" จะพาทุกคนไปย้อนรอย 5 คนดังในแวดวงบันเทิงที่ต่างตกเป็นเหยื่อและไม่สามารถรับมือกับโรคนี้ได้ จึงเลือกจบชีวิตอย่างน่าเศร้าใจ
เหม ภูมิภาฑิต
เริ่มต้นข่าวสลดใจของคนบันเทิงและแฟนๆ เมื่อทราบข่าวนักแสดงชื่อดัง "เหม ภูมิภาฑิต" วัย 31 ปี ได้ตัดสินใจจบชีวิต ด้วยการแขวนคอภายในห้องพัก เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2562 สร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัวและคนใกล้ชิดอย่างมาก
ซึ่งสาเหตุที่ "เหม" ได้เลือกจบชีวิตลงนั้น เนื่องจากป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามานานและเกิดจากการผิดหวังมาซ้ำๆ ทั้งนี้คนรอบข้างได้เผยว่า "เหม" เคยคิดที่จะฆ่าตัวตายมาหลายครั้งแล้ว
โดยก่อนจะลาโลกไป เจ้าตัวยังได้โพสต์ข้อความเชิงตัดพ้อชีวิต ไม่ว่าจะเป็น "ขอขอบคุณทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต ใกล้ถึงวันแห่งอิสรภาพเสียที" หรือ "เหนื่อย" รวมทั้งยังโพสต์คำคมทางธรรมะเอาไว้ทิ้งท้ายด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้อนเส้นทางชีวิต "ไมเคิล พูพาร์ต" อดีตพระเอกดังยุค 90 ก่อนตัดสินใจจากลาโลก
ประโยคที่ควรพูด & ไม่ควรพูด กับผู้ป่วย โรคซึมเศร้า ที่ควรรู้
ฉันเป็นซึมเศร้าหรือแค่เครียด! กับ 8 สัญญาณ ก่อนเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
เก๋ เลเดอเรอร์
นับเป็นข่าวเศร้าที่สร้างความสะเทือนใจไปตามๆ กัน สำหรับการเสียชีวิตของ "เก๋ เลเดอเรอร์" อดีตนางแบบเซ็กซี่วัย 30 ปี ที่ได้มีการกินยาฆ่าหญ้าก่อนจะกระโดดลงมาจากอาคาร ซึ่งเป็นคลินิกเสริมความงามของเธอเอง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 ก.ย.2561
โดยทางเพื่อนสนิทของเก๋ ได้เผยถึงปมการฆ่าตัวตายของ "เก๋" ว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจคลินิกเพิ่งเปิดได้ 1 เดือน ทุกอย่างไปได้ด้วยดีไม่มีปัญหาใดๆ ในการทำธุรกิจ คาดว่าเก๋คงเหนื่อยมาก ต้องแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว ไม่ได้ระบายกับใคร บวกกับเคยไปพบจิตแพทย์ เนื่องจากเป็นโรคซึมเศร้า อาจจะทำให้เครียดจนเกิดความคิดอยากตาย
อาร์ต KPN
มาต่อกันที่ข่าวโศกเศร้าวงการเพลงส่งท้ายปี 2564 สำหรับการจากไปของนักร้องหนุ่ม "อาร์ต อัครินทร์" หรือ "อาร์ต KPN" ที่มีอาการป่วยโรคซึมเศร้ามานาน ได้เลือกที่จะกินยาเกินขนาด เพื่อจบชีวิตตัวเองไปก่อนวัยอันควร เมื่อช่วงคืน 09 ธ.ค. 2564
ซึ่งก่อนจะจากไป นักร้องหนุ่มได้โพสต์ภาพสีดำ พร้อมข้อความว่า "Goodbye" เพื่ออำลาแฟนคลับเป็นครั้งสุดท้ายผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว ท่ามกลางความเสียใจของครอบครัว เพื่อนพ้องทั้งในและนอกวงการ รวมถึงเหล่าแฟนคลับ ต่างออกมาโพสต์ข้อความแสดงความอาลัยกันจำนวนมาก
โดยทางครอบครัวเผย "อาร์ต KPN" ป่วยหลายโรค ทั้งเป็นไบโพลาร์ ทั้งแพนิก และโรคซึมเศร้า ซึ่งที่ผ่านมาเขาเคยพยายามทำแบบนี้ ครั้งถึงสองครั้ง ทางครอบครัวก็พาไปหาคุณหมอ ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่สุดท้ายก็เกิดข่าวเศร้าจนได้
เคนโด้ กุลภัทร
หลายคนยังคงเศร้าไม่หาย หลังทราบข่าว "เคนโด้ กุลภัทร" นายแบบดังอนาคตไกล วัย 27 ปี จมน้ำเสียชีวิตที่แม่น้ำเจ้าพระยา หลังครอบครัวประกาศตามหาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตคาดว่าจะเกิดจากภาวะซึมเศร้า
โดยโชเฟอร์แท็กซี่ให้การว่า ก่อนจะหายตัวไป เคนโด้ได้โบกแท็กซี่ออกจากห้องพักในซอยอิสรภาพ20 ไปลงที่สะพานปิ่นเกล้า ตอนกลางดึก ซึ่งตลอดทางเคนโด้ก็นั่งร้องไห้คล้ายกับคนป่วย
ซึ่งหากย้อนไปช่วงปี 2563 "เคนโด้" เคยสัมภาษณ์ผ่านโปรเจกต์ L’Officiel Hommes ME ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ครั้งแรกในชีวิตของเขา ผ่านจุดมุ่งหมายของโปรเจกต์ ที่ต้องการดันเพดานของสังคม ให้ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย
โดยเคนโด้กล่าวว่า เขาไม่ได้ปิดบังเรื่องเพศของตัวเอง คนที่รู้จักดีก็จะรู้อยู่แล้ว ที่ผ่านมายอมรับว่าเคยโดนล้อ โดนบูลลี่มาเยอะ แต่ก็จะคิดเสมอว่า เสียงรอบข้างอะไรที่ไม่สร้างสรรค์ หรือทำร้ายเรา ไม่จำเป็นต้องเอามาใส่ใจ
สำหรับตนก็มีสิ่งที่คนอื่นพยายามจะให้เราเป็นแบบคนอื่น เคยลองพยายามจะเป็นแบบนั้นแล้ว แต่ทำให้เราไม่มีความสุข จึงพยายามเป็นตัวเราในแบบที่มีความสุขดีกว่า มันทำให้ชีวิตตัวเรามีความสุข และไม่ต้องพยายามไปบอกใครให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะว่าจริง ๆ แล้วเขาอาจจะมีความสุขอยู่แล้วก็ได้
ไมเคิล พูพาร์ต
ปิดท้ายข่าวเศร้ากันที่ "ไมเคิล พูพาร์ต" อดีตพระเอกดังยุค 90 วัย 52 ปี ที่ได้จากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ด้วยการตัดสินใจปลิดชีพตัวเองภายในบ้านพักใจกลางกรุง เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา
โดยสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องสุขภาพ เนื่องจาก "ไมเคิล พูพาร์ต" มีโรคประจำตัวกล้ามเนื้ออ่อนแรง และป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามานานกว่า 2 ปี ซึ่งเบื้องต้นครอบครัวไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต และจะนำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป นับเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้าอีกหนึ่งครั้งสำหรับวงการบันเทิงไทยเลย
สำหรับวิธีการดูแล เมื่อคนใกล้ชิดเป็น "โรคซึมเศร้า" มีดังนี้
สิ่งที่ควรทำ
1. ชวนผู้ป่วยให้ลุกมาทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีฬาเบาๆ เล่นเกม ทำงานศิลปะ นอกจากจะลดโอกาสที่จะคิดฟุ้งซ่าน และคิดหดหู่แล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยหลั่งสารความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา
2. ฟังด้วยความตั้งใจและท่าทีที่สบายๆ ไม่คะยั้นคะยอ และไม่ตัดสินใจแทน เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความคิดว่าตัวเองเป็นภาระให้คนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น การจะให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึก ต้องให้พวกเขารู้สึกก่อนว่ามีคนอยากรับฟัง และไม่กดดัน หรือตัดสินเขา
สร้างความไว้วางใจ และบรรยากาศสบายๆ ให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูดออกมาเต็มที่ เพราะในบางครั้งเขาอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากตาย หากว่าคนรอบข้างได้มีโอกาสรับฟัง จะได้สามารถป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. อย่าบอกปัด ผู้ป่วยให้ไปเข้าวัดฟังธรรมหรือทำจิตใจให้สงบ โดยไม่อยู่เคียงข้างพวกเขา เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกทันทีว่าไม่มีที่พึ่งพา หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่น่ารำคาญ และยิ่งตีตัวออกห่าง ส่งผลให้เกิดความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้
2. อย่าทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่อยากพูดถึงเมื่อผู้ป่วยพูดถึงการอยากตาย หลายๆ คนคิดว่าการเอ่ยหรือพูดคุยถึงเรื่องการฆ่าตัวตายกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาจเป็นแนวโน้มให้ผู้ป่วยอยากทำ หรือชี้โพรงให้กระรอก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากผู้ป่วยเอ่ยถึงการอยากตาย แล้วคนใกล้ตัวกลับมีท่าทีต่อต้าน หรือทำเป็นไม่สนใจเพื่อให้ผู้ป่วยเลิกคิด หรือมีคำพูดทำนองว่า "อย่าคิดมาก" , "อย่าคิดอะไรบ้าๆ" ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงอย่างมากว่าเราไม่รับฟังสิ่งที่เขารู้สึกคับข้องใจ ไม่มีวันจะเข้าใจเขาจริงๆ
3. อย่ากดดันและเร่งรัด ถ้าผู้ป่วยยังอาการไม่ดีขึ้น ห้ามพูดหรือทำให้พวกเขารู้สึกว่า "เมื่อไหร่จะหาย" หรือ "หายได้แล้ว" เพราะผู้ป่วยจะยิ่งรู้สึกกดดัน และผิดหวัง หากอาการเพิ่งเริ่มดีขึ้น ความเครียดเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้จิตใจแย่ลง และอาจเป็นหนักกว่าเดิม
ที่มา : โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน