svasdssvasds

WHO เตือน อย่าประมาท "โอไมครอน" อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้

WHO เตือน อย่าประมาท "โอไมครอน" อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกโรงเตือน อย่าได้ประมาท "โอไมครอน" กับการแพร่ระบาดในครั้งนี้ เพราะสายพันธุ์นี้ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน อาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้

"โอไมครอน" จากเชื้อที่หลายคนวิตกกังวล กลายเป็นกระแสที่หลายคนเชื่อว่า เชื้อดังกล่าว ไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด แต่ล่าสุดในประเทศอังกฤษพบผู้เสียชีวิตเป็นรายแรกจากไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้

 ล่าสุด ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้นำองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ลักษณะการแพร่ระบาดไปทั่วโลกและการกลายพันธุ์หลายครั้ง บ่งชี้ได้ว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน อาจส่งผลกระทบใหญ่ในอนาคตข้างหน้าได้ ปัจจุบัน เชื้อไวรัสฯสายพันธุ์โอไมครอน แพร่ระบาดอยู่ใน 57 ประเทศ และสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถึงแม้จะยังไม่ปรากฏอัตราความเร็วที่ชัดเจนก็ตาม

 นอกจากนี้ ยังระบุว่า ข้อมูลใหม่จากแอฟริกาใต้บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน มีอัตราการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่เรายังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปที่แน่ชัดก่อน ส่วนคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การฯ เอง ก็ระบุว่า ถึงแม้หลักฐานบางส่วนชี้ว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน ก่อให้เกิดอาการป่วยน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ยังเร็วเกินไปที่สรุป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• หมอเฉลิมชัย แนะฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 ไวขึ้นทิ้งห่างแค่ 3 เดือน สกัด "โอไมครอน"

• ดร.อนันต์ แนะจับตา "โอไมครอน" แนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งหลังช่วงปีใหม่

• หวั่นโอไมครอนพุ่ง20เท่า ส่องมาตรการอังกฤษยกการ์ดเข้มขึ้นอีกครั้ง

 กรรมการบริหารโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแห่งองค์การฯ ไมก์ ไรอัน ระบุถึงโอไมครอนว่า แม้ตามหลักแล้ว การวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสฯ จะทำให้แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นหลังกลายพันธุ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อไวรัสฯ จะมีความรุนแรงน้อยลงอย่างที่บางฝ่ายกล่าวอ้าง เพราะ เชื้อไวรัสฯ จะอันตรายมากขึ้นหรือน้อยลงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

 ปัจจุบันการศึกษาเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่องค์การฯ ยังต้องการเวลา เพื่อวิเคราะห์และหาข้อสรุปที่ชัดเจน

 ด้านหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การฯ ซุมยา สวามินาธาน ระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์โอไมครอน ลดประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

ทั้งนี้องค์การฯ เรียกร้องทุกประเทศยกระดับการเฝ้าระวัง การตรวจโรค และการลำดับพันธุกรรม พร้อมส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้าแพลตฟอร์มข้อมูลทางคลินิกขององค์การฯ ผ่านรูปแบบการรายงานยอดผู้ป่วยทางออนไลน์ที่มีการอัปเดตข้อมูลเสมอ

related