svasdssvasds

ดร.อนันต์ แนะจับตา "โอไมครอน" แนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งหลังช่วงปีใหม่

ดร.อนันต์ แนะจับตา "โอไมครอน" แนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งหลังช่วงปีใหม่

นักไวรัสวิทยาแนะจับตาสถานการณ์หลังปีใหม่ "โอไมครอน" อาจทำผู้ติดเชื้อทั่วโลกทวีคูณ อย่ารีบด่วนสรุปว่าไม่รุนแรง ย้ำชัดยังไม่มีวัคซีนตัวไหนเอาอยู่

 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยถึง สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และการระบาดของโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้มีผู้ติดเพิ่ม 426,708 คน ตายเพิ่ม 4,598 คน รวมแล้วติดไปรวม 270,966,405 คน เสียชีวิตรวม 5,327,271 คน  หากพิจารณาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิต ที่ผ่านมาตัวเลขอาจจะลดลง ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ มาจากที่ทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีน และมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

 สามารถป้องกันอาการป่วยหลักจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  แกมมา อัลฟา เบตา เดลตา ทำให้อัตราการเสียชีวิต ป่วยหลักลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้การระบาดของ ''โอไมครอน" กำลังจะเข้ามาทำให้อัตราการติดเชื้อ และการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง

 เนื่องจากข้อมูลระบุว่า "โอไมครอน" สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น กรณีที่มีการออกมาสรุปว่าสายพันธุ์ "โอไมครอน" ติดแล้วจะมีอาการไม่รุนแรงนั้น อาจจะยังไม่สามารถสรุปสถานการณ์ และประเมินความรุนแรงยังไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องรอให้เกิดการระบาดไปอีกสักระยะก่อน เพราะระยะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ดร.อนันต์ เผย ผลวิจัยพบโควิด “โอไมครอน” หนีภูมิไฟเซอร์ได้มากถึง 41.4 เท่า

• ดร.อนันต์ ชี้ยังไม่มีหลักฐานชัด ฉีดวัคซีนเชื้อตายป้องกัน "โอไมครอน" ได้ดี

• "ดร.อนันต์" เผย โควิดสายพันธ์ุใหม่ B.1.1.529 น่ากังวล อาจเป็นความท้าทายปี65

ดร.อนันต์ เผยอีกว่า "โอไมครอน" จะเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดกลับมาหนักมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในกรณีที่จะบอกว่ารุนแรงหรือไม่อาจจะต้องพิจารณาจากอัตราการติดเชื้อของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว  รวมไปถึงข้อมูลของประเทศอังกฤษพบว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อโอไมครอนจำนวนมาก รวมทั้งยังมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโอไมครอนอีกด้วย

 นับจากนี้ต่อไปตนคาดการณ์ว่าการระบาดของโอไมครอนจะเริ่มมีการระบาดเป็นวงกว้างในโซนยุโรปช่วงหลังปีใหม่ หรือประมาณกลางเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 70-80 %  ส่วนในประเทศไทยนั้นการเริ่มต้นระบาดอาจจะมาช้ากว่าประเทศในโซนยุโรป แต่เชื่อว่าจะเกิดการระบาดของสายพันธุ์ "โอไมครอน" ในประเทศแน่นอน 

"การจะสรุปว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่รุนแรงนั้น ถือว่าเป็นการสรุปที่เร็วเกินไป เพราะเพิ่งจะมีการตรวจพบโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวไม่ระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ดังนั้นสิ่งที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลกจะต้องจับตามองคือการระบาดของโอไมครอนต่อจากนี้จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะมีวัคซีนใดที่สามารถเข้ามายับยั่งได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่หลายคนมองว่าโอไมครอนจะทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นนั้นตนมองว่ายังไม่ถึงเวลา  เพราะการที่จะบอกว่าเป็นโรคประจำถิ่นได้หรือไม่ต้องดูการระบาดว่าลดลงเป็นวงแคบหรือไม่ ดังนั้นอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะสามารถสรุปได้ว่าโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไปได้ในอนาต" 

related