ดร.อนันต์ ยกกรณีแพทย์หญิงชาวอินเดีย ติดเชื้อ"โควิด-19" สายพันธุ์อัลฟา 2 ครั้งไม่แสดงอาการ แถมภูมิพุ่งสูง แต่รอบ 3 เจอ"เดลต้า" เอาไม่อยู่ เชื้อลงปอด
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุถึงประเด็น "Breakthrough reinfection" กับ COVID-19 โดยยกตัวอย่างของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศอินเดีย ว่า มีเคสผู้ป่วยโควิด-19 ชาวอินเดียรายหนึ่ง น่าสนใจมาก เป็นบุคลากรทางการแพทย์หญิงอายุ 61 ปี ในกรุงนิวเดลี เธอตรวจ RT-PCRพบว่า ติดเชื้อโควิดแบบไม่มีอาการในเดือนสิงหาคมปี 2563 เธอใช้เวลากักตัว 3 วัน ก็ไม่สามารถตรวจพบเชื้อด้วย RT-PCR ได้อีก ตรวจภูมิประมาณ 3 เดือนหลังจากนั้น ไม่พบแอนติบอดีขึ้น ซึ่งเป็นปกติในผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ
ต่อมาตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2564 เธอได้รับวัคซีน COVISHIELD (AZ ของอินเดีย) เข็มแรก ประมาณ 2 อาทิตย์หลังฉีด ตรวจภูมิพบภูมิขึ้นเป็นบวก และ ได้วัคซีนเข็มสองประมาณ 6 อาทิตย์หลังเข็มแรก แน่นอนภูมิของเธอเป็นบวก (เราเชื่อว่าคนที่เคยติดเชื้อ ถ้าได้วัคซีน ภูมิจะดีดสูงกว่าคนปกติ เธอคนนี้น่าจะอยู่ในกลุ่มนั้น)
แต่ 3 วันหลังจากตรวจภูมิว่าเป็นบวก เธอเริ่มรู้สึกตัวว่าไม่สบาย และ 2 วันหลังจากนั้น ไปตรวจ RT-PCR ผลออกมาเป็นบวก และตรวจดูสายพันธุ์พบว่า เธอติดไวรัสสายพันธุ์อัลฟา แต่อาการเธอไม่หนัก และสามารถหายเป็นปกติ RT-PCR เป็นลบภายในไม่กี่วัน หลังจากหายป่วย เธอตรวจภูมิพบว่า ค่าแอนติบอดีดีดสูงขึ้นอีก ซึ่งน่าจะมาจากการติดเชื้อนั่นเอง (ติดเชื้อซ้ำอีกรอบ คือการกระตุ้นภูมิคุ้มกันน่าจะสูงพอที่อยู่กับเธอไปอีกนาน?)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "ดร.อนันต์" ยกกรณี "โควิดสายพันธุ์เดลต้า" ฉีดวัคซีนครบโดส ยังป่วยหนัก-ตาย
• ดร.อนันต์ เผย ภูมิคุ้มกันพุ่ง ฉีดแอสตร้าตามด้วยไฟเซอร์
• โควิดวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 17,491 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 242 ราย
แต่ 14 วันหลังจากการติดเชื้ออัลฟา และหายป่วยจน PCR เป็นลบไปแล้ว เธอเริ่มรู้สึกไม่สบายอีกรอบ ประมาณ 1 อาทิตย์ หลังมีอาการ เธอตรวจพบผล RT-PCR เป็นบวกอีกครั้ง และ การถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อของการป่วยครั้งนี้ เป็น เดลต้า ที่แตกต่างจากการป่วยเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนชัดเจน แต่คราวนี้ ผล RT-PCR ของเธอไม่ลงเร็วเหมือนครั้งก่อน ประมาณ 2 อาทิตย์หลังมีอาการ เธอเริ่มมีปอดอักเสบ หายใจลำบาก ออกซิเจนในเลือดต่ำ และต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รักษาตัวอยู่นานประมาณ 1 เดือน จนกลับมาหายเป็นปกติ ช่วงที่พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล ค่าภูมิคุ้มกันก็ขึ้นสูง จากการถูกกระตุ้นเช่นเดียวกัน
เคสนี้ต้องเรียกว่า "breakthrough reinfection" ซึ่งยอมรับว่า ไม่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่เป็นเคสที่น่าสนใจ มีอะไรให้เก็บข้อมูลอีกเยอะมาก สำหรับไวรัสเดลต้า คณะผู้วิจัยยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ทำไมภูมิคุ้มกันที่สูงมากในตัวเธอ ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการรุนแรงไม่ได้...ย้ำอีกทีว่า เคสนี้เกิดขึ้นยากมาก