กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยผลงานวิจัย ติดตามกระแสสังคมออนไลน์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ วิชาชีพสื่อการสื่อสารและข้อมูล ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในงานเสวนา “Trends and Tweets: ความสนใจ ความคิดเห็นและอารมณ์ในโลกออนไลน์”
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในเรื่อง จับตาสถานการณ์การสื่อสารของสังคมออนไลน์ โดยมี ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion, คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, คุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด, รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม ผู้เชี่ยวชาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ และ คุณปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท บัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด เข้าร่วมงาน
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ทำให้เกิดเป็นสังคมใหม่ หรือ “สังคมออนไลน์” ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการสื่อสารและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เมื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ตลอดจน ความสนใจ ความคิดเห็น รวมไปถึงการแสดงอารมณ์ต่อข่าว เรื่องราว เหตุการณ์ ในโลกออนไลน์มีแนวโน้มไปในทิศทางใด
ทีมศึกษาวิจัยของ Media Alert นำโดย ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม ผู้เชี่ยวชาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า “ผลการศึกษาวิจัยในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคม และ มิถุนายน 2564 บ่งบอกให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเสียงสะท้อนของสังคมจากแพลตฟอร์ม Google Trends และ Facebook พบความแตกต่างของประเด็นการสื่อสารและความสนใจของผู้ใช้งานทั้ง 2 แพลตฟอร์ม โดยพบว่ามีการใช้ Google ในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับหวยเพื่อการเสี่ยงโชคเป็นหลัก ในขณะที่ Facebook เป็นช่องทางการสื่อสารติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ ด้านไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมสื่อและวงการบันเทิงเป็นสำคัญ แต่ประเด็นร่วมที่สำคัญซึ่งพบทั้งใน 2 แพลตฟอร์ม คือการสื่อสารและความสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในแง่มุมต่างๆ นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ความรู้สึกกลุ่มตัวอย่างข้อความทวิตเตอร์ ในประเด็นที่กำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง 3 เดือน พบว่าส่วนใหญ่เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกในเชิงลบ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ข้อค้นพบดังกล่าว ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นกระแสความสนใจ อารมณ์ และวิธีการแสดงความเห็นของคนในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนและเชื่อมโยงกับความสนใจ ทัศนคติและพฤติกรรมการสื่อสารของคนในสังคม ซึ่งอาจต้องมีการวิเคราะห์ต่อไปว่าจะสามารถสร้างหรือพัฒนากลไกการสื่อสารในประเด็นใด และอย่างไร เพื่อให้เกิดนิเวศสื่อ และการใช้ชีวิตร่วมกันของสังคมที่มีคุณภาพ”
คุณปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท บัณฑิตเซ็นเตอร์ จำกัด ตัวแทนทีมร่วมวิจัย กล่าวว่าทีม Media Alert ได้รวบรวมข้อมูลจากแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยการศึกษาแพลตฟอร์มออนไลน์ 3 รูปแบบ ดังนี้
Google – ดูเรื่องการสืบค้น / คำสืบค้น (Keywords) ต่าง ๆ ที่ค้นนิยมค้นหาในช่วง 3 เดือนที่ทำการศึกษา
Facebook - ดูเรื่อง trends หรือแนวโน้มความสนใจต่าง ๆ ของคน โดยศึกษาจากแฟนเพจต่างๆ (ไม่ใช่เพจส่วนตัว) และเก็บข้อมูลเรื่องการพูดคุยหรือ conversation
Twitter – ดูเรื่องการแสดงอารมณ์ จับกระแส hashtag (#) ความรู้สึกของคนในการวิพากษ์เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งทางสังคมและการเมือง
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ วิชาชีพสื่อการสื่อสารและข้อมูล ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานวิจัยดังกล่าว ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผมคิดว่าผลการนำเสนอการศึกษาครั้งนี้ สะท้อนสถานการณ์ทางสังคมที่คนสิ้นหวังท้อแท้มากขึ้น เช่น การสนใจเรื่องหวย เรื่องผลสลากกินแบ่ง เป็นความรู้สึกของชนชั้นกลางระดับล่างที่เจอกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ต้องการความหวังในการใช้ชีวิตและขยับสถานะทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีขึ้นแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนการที่คนจับจ้องไลฟ์สไตล์คนอื่น (ในการใช้งาน Facebook) แสดงให้เห็นว่าคนต้องการหลีกหนีจากชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ของตนเอง และมองหาไอดอลในการใช้ชีวิต หรือการกอสซิปดารา คนมีชื่อเสียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกินขอบเขต เป็นการมองคนในข่าวหรืออินฟลูเอนเซอร์ว่าเป็นบุคคลสาธารณะ จนทำให้คนในโลกออนไลน์รู้สึกว่าตนสามารถวิพากษ์วิจารณ์คนเหล่านี้ได้อย่างอิสระ จนอาจจะเกินขอบเขตความเป็นส่วนตัวและลามไปถึงเรื่องการสร้าง Hate Speech
ผมมองว่าในสังคมเราตอนนี้ไม่มี Public Space มากพอในการพูดคุยกัน คนเลยต้องไปพูดคุยกันในโลกออนไลน์ หรือสร้างพื้นที่ของคนที่มีความสนใจร่วมกันกับตนเองในออนไลน์ขึ้นมา ผมไม่อยากให้มองว่าเรื่องเหล่านี้ พฤติกรรมเหล่านี้ของคนเป็นเรื่องลบอย่างเดียว แต่อยากให้มองว่าตอนนี้สังคมเรามีพื้นที่ในการพูดคุยแบบสาธารณะน้อยเกินไป เราไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชนมากพอว่าการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเป็นเรื่องที่ต้องมีขอบเขต และหน่วยงานภาครัฐควรสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้เรื่องเหล่านี้ให้ประชาชนมากขึ้น สื่อเองก็เป็นคนนำเสนอข่าวพวกนี้เองอยู่บ่อยครั้งและซ้ำ ๆ เช่น ข่าวแม่น้ำหนึ่ง ข่าวลุงพล ทำให้คนสนใจแต่เรื่องพวกนี้ด้วย ข่าวลวงจำนวนไม่น้อยเกิดจากผู้ใหญ่และส่งต่อให้เด็ก รวมถึงการใช้คำหยาบด่าทอกันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ไม่ใช่แต่เด็ก แต่ผู้ใหญ่เองก็ใช้ Hate Speech เองไม่น้อยนอกจากนี้เด็กไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการคุยกับผู้ใหญ่ เขาจึงไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น แสดงออกในนั้น เช่น อัดคลิปและแชร์ปัญหาต่าง ๆ ที่เขาเจอ เพื่อให้ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองสนใจและเปิดรับฟังเขา
บรรยากาศความเครียดที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ ทำให้เห็นว่าคนเท่าทันความเครียดของตนเองน้อยลง และเป็นผลกระทบจากการรับรู้ข่าวสารที่ก่อให้เกิดความเครียดอยู่เสมอ ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจ หรือรับฟังประชาชนหรือพลเมืองมากขึ้น เพื่อเข้าใจว่าทำไมเขาจึงแสดงออกบนแพลตฟอร์มออนไลน์เช่นนั้น ผมจึงมีความคาดหวังให้งานวิจัยนี้นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันทางสังคม ผมยังเห็นว่า ประเด็นเรื่องการศึกษาเป็นประเด็นทางสังคมที่นำมาพูดในช่วงปีสองปีนี้เยอะขึ้น เห็นการสื่อสารของครูและเด็กในฐานะพลเมืองมากขึ้น แต่อาจจะเป็นแค่กระแสแล้วจบไป อยากให้มีการถกเถียงพูดคุยกันเรื่องการศึกษาแบบนี้มากขึ้นและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น (Social Listening to Social Learning) การศึกษาเรื่อง Media Alert จะทำให้เกิดการเช็คอุณหภูมิทางสังคมได้ดี ตอนนี้คนต้องการพื้นที่กลาง ๆ ในการพูดคุยกัน และเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้
คุณสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า ผมคิดว่าพื้นที่ออนไลน์คือภาพสะท้อนธรรมชาติของคนในที่นั้นๆ พื้นที่ออนไลน์มีความแปลกอย่างหนึ่งคือ เหมือนจะเป็นพื้นที่ปิดและส่วนตัว แต่คนก็เอาประเด็นบางอย่างที่คุยกันอย่างเปิดเผยไม่ได้มาคุยกันอย่างเปิดเผยในนี้ ตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่องเพศ/การขายบริการออนไลน์ ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับคนที่อายุน้อย/เด็กและเยาวชนที่เข้ามาใช้พื้นที่เนื้อหาแบบนี้มากขึ้น
งานวิจัยนี้มีประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ แต่อยากให้คิดถึงเรื่องจริยธรรมการทำวิจัยที่มีเนื้อหาประเภทนี้ โดยเฉพาะการศึกษาข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง ที่ต้องมีการปกปิด/ขออนุญาต (Consent) ในการใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวด้วยหรือไม่ ผมอยากตั้งคำถามว่าข้อมูลที่เราได้มาจาการศึกษาครั้งนี้จะนำไปทำอะไรต่อได้บ้าง? ผมคิดว่ามันช่วยทำให้เรารู้ปัญหาบางอย่างเป็นจุดๆ ได้ เช่น เรื่องข่าวลวง ข่าวบิดเบือน การขายของผิดกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐสามารถเข้ามาจัดการเหล่านี้ปัญหาได้เลย(เมื่อเห็นข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้
ส่วนเรื่อง “การสร้างความเกลียดชัง” บนออนไลน์ ก็เป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น หรือบทบาทการมองเรื่องความรุนแรง เช่น การสลายการชุมนุม ที่มีการพูดถึงความชอบธรรมทั้งสองฝั่ง หรือการพยายามสร้างความถูกต้องในการสลายการชุมนุมจากข้อมูลของ IO และการนำเสนอแนวคิดเรื่องสันติวิธีจากฝ่ายต่อต้านรัฐ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถ้าเรามีกลไกแบบ Media Alert มาช่วย ก็น่าจะลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและความขัดแย้งที่มากขึ้นได้ ผมอยากให้ทุกภาคส่วนมาหาทางออกร่วมกันทางสังคมจากข้อมูลการศึกษาครั้งนี้ เห็นด้วยกับ อ.อรรถพล เรื่องการนำผลวิจัยไปใช้และปฏิบัติจริง (Social Listening to Social Learning and Action) และกองทุนสื่อเองก็สามารถสร้างบทบาทตรงนี้ได้ นอกจากนี้ในเรื่องการนำเสนอข่าวลวงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโควิด ทำให้เกิด “Correctors” หรือผู้แก้ข่าวและทำให้ข่าวลวงเหล่านี้ลดลง ซึ่งเป็นมุมที่น่าสนใจว่าเราจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาทำหน้าที่เหล่านี้มากขึ้น
คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าว อยากให้แยกคำสามคำนี้ออกมาก่อน “ความสนใจ ความคิดเห็น และอารมณ์ในโลกออนไลน์” และดูว่าเราจะนำข้อมูลจากสามประเด็นนี้ไปทำงานต่ออย่างไร ตอนนี้ประชาชนยังมีการรับสารที่ไม่ใช่จากสื่อแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ด้วย เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งรถแห่ตามชุมชน เราอาจจะต้องกลับมามองว่า กทม.ไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศไทย ตัวอย่างเช่น การค้นหาเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลคือการค้นหาของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นภาพสะท้อนสถานการณ์บางอย่างของคนในสังคมตอนนี้
ผมมองว่าควรมีการสนับสนุนให้เกิดนิเวศน์บนสื่อออนไลน์ โดยตอนนี้ทุกคนสามารถนำเสนอข้อมูล (Information) ในออนไลน์ได้ ทำให้คนสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลไปใช้ได้อย่างเสรี เราจึงควรสร้าง literacy ที่ดีให้กับประชาชน จะทำให้คนรู้ว่าเมื่อเขาเห็นข้อมูลต่าง ๆ แล้ว เขาควรแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นกับข้อมูลเหล่านั้นให้เหมาะสมและถูกต้องได้อย่างไร โดยปัจจุบันประชาชนสามารถเป็น “สื่อ” เองได้ องค์กรสื่อเองก็ต้องอยู่ได้ด้วยกลไกทางตลาด (ไม่ใช่ด้วยเงินบริจาค) จึงต้องผลิตเนื้อหาเพื่อนำเสนอให้คนสนใจ ซึ่งอาจมีผลต่อเรื่องจริยธรรมในการนำเสนอ ผมจึงอยากให้องค์กรรัฐสนับสนุนการผลิตเนื้อหาขององค์กรสื่อที่สะท้อนภาพของสังคมและช่วยกันพัฒนาสังคมได้ ช่วยสร้าง Global Standard ในการทำงานร่วมกัน ประเด็นสำคัญที่ผมอยากย้ำคือการรับฟังและความเข้าใจ
คุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของการศึกษานี้ไม่ต่างกับการทำ Social Listening ซึ่งจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มากขึ้นเรื่อย ๆซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่เรานำข้อมูลเรื่องนี้มาวิเคราะห์และใช้งานมากขึ้น เพราะทำให้ภาครัฐเข้าใจประชาชนมากขึ้น ภาคเอกชนเข้าใจลูกค้ามากขึ้น และประชาชนมีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น เหมือนเวลาพ่อแม่ลูกมีปัญหา ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจลูก มองว่าตัวเองมีความรู้และประสบการณ์มากกว่า ก็จะมี Empathy กับลูกและคุยกันได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง และการศึกษาเรื่องพวกนี้คงไม่มีความสมบูรณ์แบบในทีเดียว จึงต้องมีการต่อยอดในการศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ
ผมคิดว่าเราต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ให้เห็นว่าสิ่งไหนคือข้อเท็จจริง ใช้การศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เราต้องมีหลักการทำ Data Analytic แต่อย่าลืมว่าการศึกษาเรื่องความคิดเห็นและการแสดงออกบนออนไลน์ ต้องไม่แยกขาดออกจากกันระหว่างออนไลน์และความจริง เพราะเรากำลังศึกษาเรื่องคนจริง ๆ อยู่นั่นเอง แค่เป็นการแสดงออกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาถือเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์จริงของสังคม
ส่วนการศึกษาแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องมองพฤติกรรมกลุ่มผู้ใช้งานของแต่ละกลุ่มให้ชัด การแสดงออกบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็มีความไม่เป็นธรรมอยู่แล้วโดยธรรมชาติของสื่อแต่ละประเภท ดังนั้น การนำข้อมูลมาใช้ต้องคำนึงถึงความไม่เป็นธรรมในการใช้งานเหล่านั้นด้วย หรือการแสดงออกโดยคนที่มี Social Status ที่ไม่เท่ากัน เราอาจจะไม่สามารถตัดสินว่าเสียงของเขาเท่ากัน หรือจะสร้าง Impact ต่อสังคมได้เท่ากันหรือไม่ การศึกษาแบบนี้ควรต้องทำบ่อย ๆ เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าอะไรหายไป และสามารถใช้เป็นเครื่อง Check and Balance ให้สังคมหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเรากำลังทำงานไปถูกทางแล้วหรือไม่ ซึ่งผมเห็นด้วยกับทุกท่านที่กล่าวมา แต่ผมมองว่าถ้าเราทำ Digital Analysis ได้แล้ว เราก็อาจจะลงไปดูข้อมูล ประเด็นหรือเสียงเล็ก ๆ ที่สะท้อนมาในข้อมูลของเราด้วย คือต้องดูทั้งประเด็นใหญ่และประเด็นเล็ก เพื่อให้เข้าถึงปัญหาของคนบางกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ
รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวมองว่างานที่ทำมาเป็นการ Kickoff ของ Media Alert ได้ดี ทำให้เห็นว่าสื่อในปัจจุบันกำลังสะท้อนอะไรอยู่บ้าง และการทำงานร่วมกับกองทุนสื่อฯ เป็นการทำงานร่วมกันที่เหมาะสม แต่ละแพลตฟอร์มออนไลน์มีรูปแบบที่ต่างกัน ดังนั้นพฤติกรรมการใช้สื่อของคนจึงต่างกันไป แม้กระทั่งคนคนเดียวกัน แต่การไปอยู่/ใช้งานต่างแพลตฟอร์มก็ต่างกันไปจริง ๆ เปรียบเทียบกับการทำโครงการ Media Monitor ซึ่งเป็นการทำงานที่หนักมาก ในยุคนั้นต้องดูข้อมูลด้วยตาและถอดรหัสด้วยมือ แต่ทำให้เห็นการทำงานของสื่อกระแสหลักได้ชัดเจนมาก รู้สึกว่าเป็นงานเดียวที่ตอบโจทย์ว่าสื่อมีบทบาท/แสดงบทบาทอย่างไร จึงอยากบอกทีมวิจัยของ Media Alert ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงคัดกรองข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ อยากให้การวิเคราะห์ของทีมขยับจาก What Happens? เป็นเรื่อง “ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดในสังคมไทย” จะทำให้งานมีคุณค่ามาก แต่อยากให้ทีมวิจัยระวังเรื่อง
1. การคัดกรองข้อมูล การศึกษาข้อมูล ว่ามันเป็นการสะท้อนเสียงของชาวเน็ตจริงหรือไม่
2. การนำเสนอการศึกษาครั้งนี้เพื่อการสร้างบทสรุปเชิงนโยบาย อาจจะต้องระวังว่าจะไม่ไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของประชาชน เพราะพื้นที่ออนไลน์เป็น Public Sphere ที่ให้เสรีภาพในการนำเสนอและแสดงออกของประชาชน
3. อยากให้ระวัง IO และเสียงเทียม แอคเคาท์เทียมที่มีอยู่ในออนไลน์ เพราะเสียงเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนข้อมูลจริงของประชาชน
นอกจากนี้ Stakeholder ในสื่อออนไลน์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ ทั้งภาครัฐและองค์กรสื่อ และทิศทางของโลกเรื่องการดูแลสื่อ ก็เป็นไปเป็นในทาง Governance มากกว่า Government เสียงที่สะท้อนจากการศึกษาครั้งนี้ มีทั้ง Voice และ Noise ส่วนตัวคิดว่านโยบายรัฐมักออกมาตาม Noise หรือเสียงบ่นของประชาชนมากกว่า ดิฉันเห็นด้วยกับคุณกล้าว่า อยากให้นโยบายและการแก้ปัญหา มาจาก Voice มากกว่า ต้องคำถึงผลประโยชน์สาธารณะอย่างจริงจัง โดยไม่ต้องรอคนกรีดร้องแล้วค่อยมาออกนโยบาย
ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม ผู้เชี่ยวชาญ รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า “โครงการศึกษาวิจัยสภาพการณ์สื่อและพฤติกรรมการเปิดรับสื่อ หรือ Media Alert จะอัปเดตข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ต่าง ๆ ของสื่อและการสื่อสารของสังคม เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นที่สำคัญหรือเป็นที่สนใจของสังคม ด้วยหลักวิชาการที่เชื่อถือได้ และด้วยวิธีการเพื่อให้เท่าทันความสนใจและการนำไปใช้ประโยชน์ของสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าเราทุกคนมีส่วนในการร่วมสร้างและพัฒนานิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์”
ขอบคุณคณะวิทยากรเวทีเสวนา“Trends and Tweets: ความสนใจ ความคิดเห็นและอารมณ์ในโลกออนไลน์” ที่ได้ให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนางานการศึกษา ความสนใจ ความคิดเห็น และอารมณ์ในโลกออนไลน์ ของช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง ธันวาคม ปี 2564 ซึ่งกองทุนกำลังดำเนินการร่วมกับทางบัณฑิตเซ็นเตอร์ และจะรายงานผลการศึกษาต่อสังคมผ่านช่องทางการสื่อสารของกองทุน และ Media Alert ต่อไป