ปฎิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งชีวิตประจำวันของเรา ทั้งเรื่องการทำงาน การติดต่อสื่อสาร หาหรือเผยแพร่รูป ข้อมูลข่าวสาร สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เชื่อมความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือคนที่เรารัก
Social Media ช่วยย่อโลกมาอยู่ที่ปลายนิ้ว ให้เราได้เข้าถึงข้อมูลและการติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยให้หลายๆ เรื่องง่ายขึ้น คนเรายังใช้สื่อออนไลน์ในการเบี่ยงเบนความสนใจและเป็นอีกวิธีในการรับมือกับความเครียดมา
เรียกได้ว่าโซเชียลมีเดียกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสถิติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น Global Digital Report 2021 ของ We Are Social และ Hootsuite แพลตฟอร์มบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ ได้เผยถึงสถิติตัวเลขล่าสุดของผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 ล้านคนในเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ Social Media ถึง 4.48 พันล้านคนทั่วโลก นั่นเท่ากับว่ามากกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมดของโลกเสียอีก และสื่อออนไลน์มีอยู่มากมายแต่ที่เรารู้จักกัน เช่น Facebook, LINE, Instagram, Twitter, YouTube และ TikTok ฯลฯ และสำหรับรายงานพฤติกรรมผู้บริโภคด้านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงปีนี้ของคนไทย We Are Social ได้รายงานว่า คนไทยใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการอัพเดทข่าวสารและได้อันดับ 1 ของโลกไปครองในปีนี้ คิดเป็น 78%
และมีข้อมูลที่น่าสนใจจากการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่ง ดีอีเอส หรือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้นับสถิติย้อนไปในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา (1 ตุลาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2564) มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 20,294,635 คน ซึ่งกลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี โดยจากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 145,515,605 ข้อความ นั่นหมายความว่าเรารับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งจริงและปลอมในแต่ละวัน
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ติดตามข่าวโควิด-19 ยังไง ไม่ให้เครียด วิตกกังวล เกิดอาการแพนิค?
ช่วงนี้สุขภาพจิตเป็นอย่างไร ? ลอง 5 วิธีฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แข็งแกร่ง
กลไกของสมองที่ตอบสนองต่อการใช้ Social Media
การใช้ Social Media เพื่อเผยแพร่หรือรับรู้ข้อมูลมีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมอง การแชร์ข้อมูลกับผู้อื่นบนโลกออนไลน์เป็นการกระตุ้น Ventromedial Prefrontal Cortex และ Ventral Striatum เมื่อได้รับกระแสตอบรับในเชิงบวก การกด LIKE การได้รับคำขอเป็นเพื่อนเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถกระตุ้น Brain’s reward system ในสมองของเราได้ ในขณะเดียวกันการอ่านโพสต์ของคนอื่นก็ทำให้ได้รับผลเช่นเดียวกันเพราะการได้รับข้อมูลที่เป็นเหมือนการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของตนเอง ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสมองส่วน Ventral Striatum และสุดท้ายสมองส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบรางวัลทางสังคมของตัวเองกับผู้อื่น เช่น จำนวนยอด LIKE ฯลฯ และจากการศึกษาการเสพติดยอดไลค์มากๆ เป็นการกระตุ้นการทำงานของ Brain Circuits ให้เกิดความรู้สึกดี เช่นเดียวกับการกินช็อคโกแลตหรือชนะได้เงินรางวัลในการแข่งขัน
การเสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปอาจส่งผลกระทบกับร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ อย่าง Fear Of Missing Out (FOMO) หรือโรคกลัวตกระแส เป็นการหวาดระแวงว่าตัวเองจะพลาดอะไรไปไม่ทันกระแสเหมือนคนอื่น ชอบอัพเดททุกความเคลื่อนไหว ใช้ Social Media เป็นเสมือนสิ่งในการเชื่อมต่อทางสังคม ซึ่งจากการวิจัยในตัวอย่างผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 9,417 คน จาก 6 ประเทศทั้งแถบยุโรป เอเชีย และอเมริกา ในปี 2014 พบว่ามีค่าเฉลี่ยระยะเวลาการใช้งานที่ 5.1 ชั่วโมงต่อวัน โดยส่วนใหญ่คนเอเชียจะใช้เวลากับโลกออนไลน์นานกว่าชาติอื่น และร้อยละ 92 ของตัวอย่างได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยระยะเวลาการใช้งานจะลดลงใน กลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป
หากสงสัยว่าเราใช้ Social Media มากเกินไปจนอยู่ในภาวะ Fear Of Missing Out หรือเปล่า สามารถเช็กได้ว่ามีอาการเหล่านี้หรือเปล่า?
-อารมณ์แปรปรวนง่าย หงุดหงิดเมื่อไม่ได้เล่นเน็ต
-ใช้มือถือเกิน 6 ชั่วโมงในแต่ละวัน
-เช็กโซเชียลมีเดียเกือบทุกเวลา
-กลัวตกเทรนด์ รู้ข่าวช้ากว่าเพื่อน
-รู้สึกกังวลเวลาเห็นคอมเม้นต์ตำหนิ
-รู้สึกด้อยกว่าคนอื่นในโลกออนไลน์ ที่ไปกินอาหารร้านหรู เที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ
ผู้เชี่ยวชาญได้แนะแนวทางการกับมือกับ Fear of Missing Out ไว้ดังนี้
1.คอยสังเกตและจดบันทึกเวลาที่ใช้ไป Social Media เช่น โพสต์รูป ข้อความ เล่นเกมส์ เป็นต้น และนำบันทึกติดตัวไปทุกที่ที่มีโอกาสเล่นโซเชียล เพื่อให้รู้ถึงความรุนแรงของพฤติกรรมเสพติด Social Media ของเรา
2.ถามคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวว่า เราติด Social Media หรือไม่? และคิดว่าความสัมพันธ์จะดีขึ้นหรือไม่ถ้าลดเวลาที่ลง
3. กำหนดเวลาใช้ Social Media ซึ่งโดยปกติการเล่นโซเชียล 60-90 นาทีต่อวัน ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะ ติดต่อกับคนอื่น อ่านข่าวหรือโพสต์ข้อมูลส่วนตัวซึ่งเราสามารถแบ่งย่อยเป็นช่วงได้ เช่น 30 นาที ในช่วงเช้า และอีก 60 นาทีก่อนนอน
4. อาจใช้เครื่องมือหรือบุคคลอื่นช่วยเตือนให้คุณหยุดใช้ Social Media เมื่อครบเวลาที่กำหนดไว้ทันทีโดยไม่มีข้อแม้
5.อาจกำหนดวันที่ไม่เล่น ซึ่งระยะเวลาเพียงหนึ่งวันไม่ส่งผลกระทบให้ต้องกังวลกับความสัมพันธ์กับผู้อื่น และหากมีเรื่องเร่งด่วนสามารถติดต่อผ่านโทรศัพท์ได้
6. ปิดระบบแจ้งเตือนเพราะจะดึงดูดให้เรากลับไปใช้โซเชียลอีก
7. อยู่ให้ห่างอุปกรณ์เข้าถึง Social Media และเพิ่มกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ออกกาลังกาย การดูแลสุขภาพ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ
8.จดรายการสิ่งที่ไม่ได้ทำมานานมาก
9. หาช่วงเวลาปิดหรือห่างจากโทรศัพท์ แล้วหางานอดิเรกทำ
10.ไปเที่ยวหรือใช้เวลากับเพื่อน
11.กำหนดให้ห้องนอนเป็นพื้นที่ NO Mobile
12.วางแผนสำรองไว้เสมอ เพื่อรับมือกับปัญหา
13.พักสายตาทุก 2 ชั่วโมง
Cr. วารสารพยาบาลตำรวจ / www.manarom.com / สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ / www.bangkokbiznews.com