องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติวัคซีนโคแวกซิน จาก ภารัต ไบโอเทค ประเทศอินเดีย ใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับการป้องกันโควิด-19 ตัวที่ 8 ของโลก
วานนี้ (3 พ.ย. 64) - องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) อนุมัติ การใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย สัญชาติอินเดีย "โคแวกซิน" (Covaxin) จาก "ภารัต ไบโอเทค" (Bharat Biotech) สำหรับการใช้งานฉุกเฉินในการป้องกันโควิด-19 หลังจากภารัต ไบโอเทค ยื่นขออนุมัติไปตั้งแต่ต้นปี
วัคซีนโคแวกซิน เป็นวัคซีนขนาด 2 โดส ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด19 อยู่ที่ 78% หลังจากฉีดครบสองเข็มไปแล้ว 14 วันหรือนานกว่านั้น
วัคซีนโคแวกซิน ผ่านการอนุมัติในอินเดียตั้งแต่ต้นปี 2021 ระหว่างที่อยู่ในการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ทำให้เกิดความเป็นกังวล ทว่าทางการอินเดียก็ได้นำวัคซีนโคแวกซินมาฉีดให้ประชาชนมากกว่า 10 ล้านโดส หลังจากที่ WHO พิจารณาแล้วว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง และอนุมัติให้ฉีดได้ จึงเป็นการสร้างความสบายใจให้แก่ประชากรอินเดียที่ได้รับวัคซีนโคแวกซิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อย่างไรก็ตามวัคซีนที่ฉีดให้ประชากรอินเดียส่วนใหญ่ไม่ใช่วัคซีนโคแวกซิน แต่เป็นวัคซีนโควิชีลด์ (Covishield) ที่เป็นสูตรเดียวกันกับวัคซีนแอสตราเซนเนก้าแต่ผลิตในอินเดียที่ได้รับการอนุมัติจาก WHO ไปก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2021
โคแวกซิน จากภารัต ไบโอเทค ถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวที่ 8 ของโลก ที่ผ่านการอนุมัติโดย WHO ต่อคิวจาก ไฟเซอร์ (31 ธ.ค. 2020) , แอสตราเซนเนก้า และ โควิชีลด์ (15 ก.ย. 2021) , จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (12 มี.ค. 2021) , โมเดอร์นา (30 เม.ย. 2021) , ซิโนฟาร์ม (7 พ.ค. 2021) และ ซิโนแวค (1 มิ.ย. 2021)