svasdssvasds

กรมวิทย์ฯ ยันพบ สายพันธ์ุเดลต้าพลัส และอัลฟ่าพลัสในไทย

กรมวิทย์ฯ ยันพบ สายพันธ์ุเดลต้าพลัส และอัลฟ่าพลัสในไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผย พบเดลต้าพลัส 1 ราย และ อัลฟ่าพลัส 18 ราย ในไทย ยังไม่พบข้อมูลที่ส่งผลต่ออาการป่วยหรือการแพร่ระบาด แต่ก็ต้องเฝ้าระวังและติดตามเชื้อกลายพันธุ์ใกล้ชิด พร้อมยืนยันไม่ใช่เดลต้าพลัสสายพันธุ์ AY.4.2 ที่ระบาดหนักในอังกฤษ

วันที่ 26 ต.ค. 2564 ที่ ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในไทย ว่า ได้มีการสุ่มตรวจเชื้อกลายพันธุ์ พบว่า ในระยะหลัง  การแพร่ระบาดในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า / ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจเชื้อ 1,000 กว่าราย พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 98.6

ส่วนที่ 4 จังหวัดภาคใต้ หลังจากมีการตรวจตัวอย่างเชื้อมากขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 90.3 / สายพันธุ์อัลฟ่าร้อยละ 4.7  / สายพันธุ์ บีต้า ร้อยละ 5

ทำให้ทั่วทุกภูมิภาคของไทยตอนนี้ เป็นการระบาดของเชื้อ เดลต้า เป็นหลัก ส่วนสายพันธุ์อื่นๆเริ่มพบน้อยลง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ส่วนสายพันธุ์เดิม อัลฟ่า เดลต้า  ที่มีการกลายพันธุ์  เป็นพลัส นั้น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า เป็นส่วนของสายพันธุ์เดิม แต่มีการเติมของการกลายพันธุ์บางส่วนขึ้นมา ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ย่อย 

โดยการพบเดลต้าพลัส ที่ต้องจับตา คือมีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง ที่เป็นตำแหน่งที่หลบภูมิคุ้มกันได้ และอาการอาจจะมีอาการมากกว่าเดิม ซึ่งการตรวจพบเกิดขึ้นในระบบเฝ้าระวังและสามารถตรวจจับได้ 

นอกจากก่อนหน้านี้ ได้ตรวจพบ อัลฟาพลัส มาก่อน  ทั้งหมด 18 ราย แบ่งเป็น ผู้ต้องขังที่จังหวัดเชียงใหม่ 2 ราย จากการเก็บตัวอย่างวันที่ 27 เดือน กันยายน อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค  และพบในภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี และตราด จากการตรวจสายพันธุ์ 1,119 ตัวอย่าง พบ16 ราย  แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าว  12 ราย และคนไทย 4 ราย ทั้งหมดทำงานในล้งลำไย โดยมีการเก็บตัวอย่างในวันที่ 9-10 เดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

ทั้งนี้  สายพันธุ์ อัลฟ่าพลัส ที่พบในไทย มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชา

ส่วนเดลต้าพลัส ข้อมูลจากทั่วโลกมีการกลายพันธุ์ย่อยในสายพันธุ์เดลต้าหลายสายพันธุ์ย่อย  ตั้งแต่ AY.1 - AY.47  อย่างที่พบในประเทศอังกฤษ คือเดลต้าพลัส  AY.4.2  ซึ่งพบมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็วกว่า สายพันธุ์เดลต้าเดิม ร้อยละ 10-15 โดยยังไม่พบการระบาดในไทย  

ขณะที่ประเทศไทยมีการตรวจพบเชื้อ พลัส AY.1  จำนวน 1 ราย  ที่จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา และจากระบบเฝ้าระวังยังพบสายพันธุ์เดลต้าย่อย อีก 18 สายพันธุ์ ที่เกิดระบาดในไทย โดยทั้งหมด ยังไม่พบข้อมูลบ่งชี้ถึงความสามารถในการแพร่ระบาดหรืออาการป่วยที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ตอนนี้ในระบบไทยได้มีการเฝ้าระวังและตรวจสายพันธุ์ไวรัสโดยสุ่มตรวจสัปดาห์ละประมาณ 400-500 ตัวอย่าง  ยืนยันวัคซีนโควิด-19ที่มียังสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดลต้าพลัสได้ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทั่วโลก พบว่า เชื้อโควิค 19 เริ่มมีความรุนแรงของโรคลดลง  ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี คาดท้ายที่สุด เชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่อาจจะมีอาการป่วยและรักษาได้

related