svasdssvasds

กรมวิทย์ฯ เร่งสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดระบาดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้

กรมวิทย์ฯ เร่งสุ่มตรวจหาสายพันธุ์โควิดระบาดใน 4 จังหวัดชายแดนใต้

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เร่งสุ่มตรวจตัวอย่างเชื้อใน 4 จังหวัดภาคใต้เพิ่มขึ้น ว่าจะมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนหรือไม่ ย้ำชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเอง หรือ ATK มีประสิทธิภาพ ยันวัคซีนไฟเซอร์ปลอดภัย ไม่มีสารกัมมันตรังสี

 ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า จากข้อมูลการสุ่มตรวจจำนวนตัวอย่าง
500-600 ตัวอย่างในไทย ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่อัลฟ่าพบเล็กน้อย ส่วนภาคใต้พบเบต้าเพิ่มมา 

 ทำให้ภาพรวม สายพันธุ์เดลต้าครองเมืองร้อยละ 97.5  ร้อยละ 2  เป็นอัลฟ่า ร้อยละ 0.3 เป็นสายพันธุ์เบต้า ซึ่งพบในภาคใต้ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดนราธิวาส ยะลา พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบต้า จังหวัดละ1ราย 

 ทั้งนี้ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักคือเดลต้า โดยจำนวนการตรวจอาจจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน เบื้องต้นได้ประสานทางจังหวัด ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลามาเก็บตัวอย่างในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ (สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ) เพิ่มเติม เพื่อที่จะได้จำนวนแต่ละตัวอย่างเพิ่มขึ้น จากนั้นก็จะนำไปตรวจดูสัดส่วนของสายพันธุ์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้าหรือมีสายพันธุ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมาหรือไม่ รวมถึงแต่ละจังหวัดด้วย ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะได้คาดการณ์สถานการณ์ได้ถูก หากเป็นสายพันธุ์เบต้าเพิ่มขึ้นก็อาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนสายพันธุ์มิว หรือสายพันธุ์อื่นในต่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่ตรวจพบในประเทศไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• วัคซีนไฟเซอร์ ถึงไทยสัปดาห์หน้า 1.5 ล้านโดส เร่งฉีด 4 จังหวัดชายแดนใต้

• ด่วน! สธ.แย้มอาจล็อกดาวน์ภาคใต้ หากโควิดลามไม่หยุด หลัง 4 จังหวัดยอดป่วยพุ่ง

• สธ.ห่วงโควิดภาคใต้ หวั่นคุมไม่อยู่ หลังพบ 3 สายพันธุ์หลัก เร่งฉีดวัคซีนสกัด

 ขณะเดียวกัน วันนี้ทางสหราชอาณาจักรได้ปลดประเทศไทย ออกจากบัญชีแดง ซึ่งไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีแดง ตั้งแต่ 26 สิงหาคม ทำให้ประชาชนที่เดินทางจากประเทศไทยไม่สามารถเดินทางเข้าอังกฤษได้เลย ยกเว้น ประชาชนบางส่วนที่ไปเรียนหนังสือ หรือมีถิ่นพำนักในประเทศอังกฤษ ซึ่งต้องกักตัวและต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท 

 ทางเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้มีการพูดคุยกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงปัญหาดังกล่าวและได้ร่วมแก้ไข  พบ ปัญหาว่า  ประเทศไทยตรวจหาเชื้อการกลายพันธุ์ไม่เพียงพอ รวมถึงไม่ได้มีการรายงานเข้าไประบบสากล หรือ GISAID อีกประเด็นคือ ไทยติดเชื้อตั้งเยอะ แต่จำนวนการตรวจน้อย ทั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า ไทยจะมีการตรวจเชื้ออย่างน้อยทุกสัปดาห์ 130 ตัวอย่างต่อสัปดาห์

 ผลจากการดำเนินการแก้ไขปัญหา ได้ปรับระบบการรายงานภายในเดือนกว่า ให้มีการรายงานเข้าระบบฐานข้อมูลกลางสากล 4,000 กว่าตัวอย่าง และตอนนี้ได้มีการรายงานเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง 

 ส่วนการตรวจ ด้วยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 หรือที่เรียกกันว่า ชุดตรวจ ATK  แล้วมีผลลบลวงค่อนข้างมาก อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ระบุว่า การที่มีผลลบลวงไม่ได้เกิดจากคุณภาพของตัวชุดตรวจ ATK แต่เป็นข้อจำกัดของเครื่องมือชนิดนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยี้ห้อไหนไปตรวจก็ได้ผลเช่นเดียวกัน 

 หากตรวจเชื้อเร็วเกินไปก็อาจจะไม่พบเชื้อ เช่น หากรับเชื้อเมื่อวาน แล้วพรุ่งนี้ไปตรวจ เชื้อก็อาจยังไม่เพิ่มจำนวนก็ทำให้ไม่พบเชื้อได้ อย่างไรก็ตามชุดตรวจ ATK ความไวในการตรวจน้อยกว่า ตรวจRT-PCR อยู่แล้ว /  รวมถึง เชื้อในร่างกายน้อย ไม่มาก หากตรวจด้วยชุดตรวจ ATK อาจจะตรวจไม่เจอ 

ทั้งนี้ หากตรวจด้วยชุดตรวจ ATK  เป็นลบ ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่พบเชื้อ หากเป็นไปได้ขอให้ตรวจซ้ำ 3 ถึง 5 วันหลังจากนั้น แต่หากตรวจเอง ตรวจไม่ถูกวิธีเต็มที่ โอกาสที่เกิดผลลบลวงอาจจะเกิดขึ้นได้  

ด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ระบุเพิ่มเติมว่า ช่วงที่เหมาะสมกับการตรวจ ATK คือ ช่วงที่มีอาการหรือ มีอาการคล้ายไข้หวัด จะเป็นช่วงที่มีปริมาณไวรัสเยอะ การตรวจ ATK โอกาสที่จะพบผลบวกจะสูง ส่วนปัจจัยที่จะทำให้คนตรวจเชื้อด้วย ชุดตรวจ ATK จำนวนน้อยลง ส่วนหนึ่งจะมาจากวัคซีนที่มีการฉีดครอบคลุมมากขึ้น

 ด้านนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ระบุว่า ต้องเร่งฉีดวัคซีนใน4 จังหวัดชายแดนภายใต้ คือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา เนื่องจากภาพรวมการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ฉีดวัคซีนร้อยละ 41.9 ส่วนเข็มที่ 2 ร้อยละ 27.2  แต่สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในภาคใต้เป็นช่วงขาขึ้น ประชาชนทุกคนต้องป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด ซึ่งการฉีดวัคซีนจะสามารถช่วยการแพร่ระบาดของเชื้อ และสามารถลดการป่วยหนัก และเสียชีวิต 

นายแพทย์ เฉวตสรร ยืนยันความปลอดภัย วัคซีนไฟเซอร์ชนิด mRNA เป็นเทคโนโลยีนาโนพาร์ติเคล ซึ่งจะช่วยพาวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย โดยที่ผ่านมาเทคโนโลยีถูกนำไปใช้ในการผลิตยา Amyloidosis มาก่อนแล้ว ยืนยันเทคโนโลยีดังกล่าวไม่มีผลต่อร่างกาย 

 ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร ระบุถึง การใช้วัคซีนสูตรไขว้แอสตร้า-ไฟเซอร์ ได้มีการนำเข้าหารือในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีการเสนอไปยังศบค.ในพรุ้งนี้ รวมถึงข้อสรุปการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 ในกลุ่มเด็กผู้ชายจะมีความชัดเจนในวันพรุ้งนี้ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะแถลงแนวทางให้สถานศึกษาทราบ

related