svasdssvasds

GCNT ร่วมกับ UN in Thailand เตรียมประกาศจุดยืนภาคเอกชน สู้วิกฤตโลกร้อน

GCNT ร่วมกับ UN in Thailand เตรียมประกาศจุดยืนภาคเอกชน สู้วิกฤตโลกร้อน

GCNT ร่วมมือกับ UN in Thailand ระดมพลังสมาชิก จัดประชุม เตรียมประกาศจุดยืนภาคเอกชนยกระดับธุรกิจ สู้วิกฤตโลกร้อน

 

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย และสถานทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย จัดการประชุม Thailand’s Climate Leadership Build forward better: Turning the Climate Crisis into Business Opportunities

จัด Workshop ระดมพลังสมาชิก เตรียมประกาศจุดยืนภาคเอกชนไทย เพิ่มขีดความสามารถ ยกระดับธุรกิจสู้วิกฤตโลกร้อน พร้อมลงมือทำอย่างจริงจัง (A New Era of Action) เอาชนะเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หวังเปลี่ยนความกดดันด้านสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาสทางธุรกิจ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT)

นายศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภัยคุกคามต่อมนุษยชาติที่ร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤต COVID19 ซึ่งกำลังคลี่คลายและอาจหายไปในที่สุด นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกผลการประเมินล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC (Inter-governmental Panel on Climate Change) ว่า “Code Red” แสดงถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ขั้นสูงสุด และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อผลกระทบของเรื่องนี้

นายศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศไทยของเราไม่สามารถหลบหนีจากผลกระทบอันรุนแรงเหล่านี้ได้ โดยผลกระทบในเรื่องนี้มีขอบเขตที่กว้างขวางและมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้น ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สภาพอากาศสุดขั้ว ภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่จะเพิ่มความถี่และความรุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำทะเลเป็นกรดมากขึ้น และผลกระทบอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตพืชลดลง ระบบอาหารหยุดชะงัก น้ำท่วมเมืองชายฝั่งทั่วโลก โรคระบาด  และอาจทำให้โลกสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด 10% ภายในปี 2593 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจลดลงถึง 20% หากเราไม่ดำเนินการใด ๆ

GCNT จึงเร่งสร้างความตระหนักในภาคเอกชนและสนับสนุนให้ธุรกิจมีความมุ่งมั่น เพิ่มขีดความสามารถ ยกระดับธุรกิจสู้วิกฤตโลกร้อน โดยจัดให้มีการสัมมนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกอย่างต่อเนื่อง และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเร่งลงมืออย่างจริงจังมากขึ้น ไม่เพียงแต่รับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เพื่อเปลี่ยนให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในเรื่องของพลังงานสะอาด รวมถึงการกำจัดของเสียและการนำกลับมาใช้ใหม่ผ่านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้มีการระดมสรรพกำลังจากสมาชิก เตรียมประกาศจุดยืนของภาคเอกชนไทย ยกระดับธุรกิจสู้วิกฤตโลกร้อน ในการประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT FORUM 2021 ในวันที่ 11 ตุลาคมที่จะถึงนี้

การประชุม Thailand’s Climate Leadership Build forward better: Turning the Climate Crisis into Business Opportunities

“GCNT เรียกร้องให้ภาคเอกชนยกระดับธุรกิจสู้วิกฤตโลกร้อน โดยมีกลยุทธ์สำคัญ คือ ส่งเสริมความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูล การนำกลไกตลาดมาใช้เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การพัฒนานวัตกรรมทั้งในด้านเทคโนโลยีและความคิด และที่สำคัญที่สุด คือ การส่งต่อเจตนารมณ์นี้ผ่านการบ่มเพาะผู้นำความยั่งยืนรุ่นต่อไป” ศุภชัย กล่าว

“GCNT เรียกร้องให้ภาคเอกชนยกระดับธุรกิจสู้วิกฤตโลกร้อน โดยมีกลยุทธ์สำคัญ คือ ส่งเสริมความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูล การนำกลไกตลาดมาใช้เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การพัฒนานวัตกรรมทั้งในด้านเทคโนโลยีและความคิด และที่สำคัญที่สุด คือ การส่งต่อเจตนารมณ์นี้ผ่านการบ่มเพาะผู้นำความยั่งยืนรุ่นต่อไป” ศุภชัย กล่าว

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

ส่วนกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุชัดเจนว่า ภาวะโลกร้อนเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น ภาคเอกชนสามารถเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ด้วยการลงทุนที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวบนเป้าหมายคาร์บอนต่ำ (Low carbon) 

โดยใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้อุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส และเชื่อว่านี่คือโอกาสที่เราจะฟื้นตัวให้ดียิ่งขึ้น โดยมีสัญญาณที่ดีเมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันการเงินการธนาคาร 43 องค์กร นำโดยกระทรวงการคลัง และองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ด้วยการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

“ก้าวสำคัญก้าวต่อไป คือ การร่วมกันกำหนดรูปแบบการฟื้นตัว พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างปลอดคาร์บอนในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาค ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะดำเนินการร่วมกันทั้งเรียนรู้ และผลักดันซึ่งกันและกันไปสู่เป้าหมาย”  กีต้า กล่าว

ด้านนายมาร์ค กูดดิ้ง (Mark Gooding) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระบุว่า การประชุม   COP26  คือหมุดหมายสำคัญที่ทุกประเทศและทุกภาคส่วนของสังคมต้องอ้าแขนรับภารกิจการปกป้องโลก ภาคธุรกิจนับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายของการประชุม COP26 และทุกธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมได้ ทั้งโดยผ่านกิจกรรมของตนเอง และผ่านความร่วมมือกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย

รวมทั้งช่วยกันผลักดันการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศไปในวงกว้าง  โดยเชิญชวนธุรกิจต่าง ๆ ให้เข้าร่วมแคมเปญ Race to Zero ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลกที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและเร่งด่วน

“ผมยินดีมากที่จะได้นำเสนอให้ทั่วโลกได้ทราบว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเอกชน พร้อมแสดงความร่วมมือกับโลกในเรื่องนี้ ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ COP26 ที่จะเกิดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง” นายมาร์ค กล่าว

ทั้งนี้  เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน ที่การประชุม COP26 จะเป็นเวทีที่ผู้นำโลกจากหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคธุรกิจได้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ ประกาศเจตนารมณ์ และระดมความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ซึ่งหากไม่รีบลดการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการตัดไม้ทำลายป่าลง จะส่งผลให้ผู้คนหลายพันล้านคนตกอยู่ในความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนที่ทำการค้าระหว่างประเทศ ควรเตรียมรับมือกับมาตรการ เงื่อนไข และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกยกระดับขึ้นทั่วโลก

ช่วงท้ายของการประชุม เป็นการเปิด Workshop ระดมความเห็นจากสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจไทยชั้นนำ โดยองค์กรที่เข้าร่วมในครั้งนี้   อาทิ   บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)  บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมยกระดับธุรกิจและรับมือกับความท้าทายระดับโลก ถือเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งในปีแห่งการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น "เป็นไปได้"

หมายเหตุ

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT - Global Compact Network Thailand) : เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 80 องค์กร

โดยสมาคมฯ นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกของสหประชาชาติ หรือUN Global Compact ซึ่งเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก รณรงค์ให้ภาคเอกชนทั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ภายใต้หลักสากล 10 ประการ ครอบคลุม 4 ด้าน

ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)

สหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand) : สหประชาชาติทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยมากว่า 50 ปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยยึดตามวาระสำคัญและแผนงานระดับชาติ

ทีมสหประชาชาติประจำประเทศประกอบด้วยหน่วยงานของสหประชาชาติ 21 หน่วยงาน ซึ่งต่างดำเนินโครงการและกิจกรรมเฉพาะด้านในประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับชาติ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนผู้บริจาค และสื่อมวลชน และยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) อีกด้วย

related