สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้เกษตรกรให้นำลองกองลับแลขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อให้ผลผลิตเป็นที่ยอมรับของตลาด
ท่ามกลางสถานการณ์ สถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบการบริโภคในทุกด้านรวมถึงสินค้าเกษตรและผลไม้ต่างๆด้วย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรอยู่บนความเสี่ยงทั้งปัญหาผลผลิตล้นตลาด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงมีการวางพื้นฐานในรูปแบบการสร้างเครือข่ายโดยมีสหกรณ์การเกษตรต่างๆ มาเป็นกลไกเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งมีตัวอย่างโมเดลการเกษตรที่น่าสนใจเพราะเป้าหมายการทำงานนี้ไม่ใช่เเค่การหาตลาดรองรับผลผลิตที่มากกว่าความต้องการเท่านั้น แต่เป็นการวางรากฐานการผลิตที่ต้องได้ผลผลิตที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ซึ่งนั้นหมายถึงขนาดตลาดที่กว้างขึ้น เมื่อดีมานด์กว้างขึ้นซับพลายที่มีอยู่ก็เป็นที่ต้องการ นำไปสู่ราคาที่ดีและรายได้ที่ตกถึงเกษตรกร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลองกองลับแล ผลไม้เศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดอุตรดิตถ์ นิยมปลูกกันมากในอำเภอลับแล เนื่องจากเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นสวนป่า มีความชื้นในอากาศและดินค่อนข้างมาก ทำให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ และเป็นที่นิยม ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของชาวอุตรดิตถ์และเพื่อเป็นการยกระดับราคาผลผลิตตามโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทำการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า
สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแลจึงได้ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้เกษตรกรให้นำลองกองลับแลขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อให้ผลผลิตเป็นที่ยอมรับของตลาด
ณรงค์ ฉิมเลี้ยง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล เล่าว่า ลองกองลับแล นั้นดั่งเดิมจริงๆคือต้นตอแรกของ“ลางสาด” แต่เมื่อความนิยมลดลงไปลางสาดกลายเป็นตำนานไปแล้ว จึงเอากิ่งพันธุ์“ลองกอง”มาเสียบเข้ากับยอดของต้นลางสาดแทน ซึ่งลอลงกองลับแลจะต่างจากผลผลิตแหล่งอื่นตรงที่ ไม่ได้ใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี แต่ที่นี่ ขอเรียกว่า “เทวดาเลี้ยง” คือ ใช้ความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติน้ำก็มาจากฝน ปุ๋ยก็เป็นปุ๋ยธรรมชาติ ทำให้รสชาดอร่อยลูกสวย เพราะฝนตกชุกน้ำถึงดินดีปุ๋ยถึงนั่นเอง
เมื่อผลผลิตดีแล้วเหมือนมีต้นทุนที่ดีอยู่ในมือ การนำตัวช่วยมาเป็นเครื่องมือเสริมด้วยมาตรการซึ่งเป็นที่ยอมรับจะเป็นการต่อยอดทางการตลาดให้กว้างขึ้นนับเป็นหมุดหมายที่ดีของการพัฒนาจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับสากล ซึ่งการแปลงแผนงานให้เป็นรูปธรรมนั้น
เปลี่ยน แหยมยินดี สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล เล่าถึงที่มาของเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรเพื่อก้าวสู่เป้าหมายมาตรฐานGAP ว่า ได้ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านนี้มาให้ข้อมูล และคำแนะนำรวมถึงการทำความเข้าใจและชวนให้เกษตรกรรู้ถึงประโยชน์การทำและมาตรฐาน GAP
เชน นิลมูล ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด กล่าวว่า ได้นำวิธีการทำGAP ตามขั้นตอนกรมวิชาการเกษตร ซึ่งทางกรมจะมีการประเมินแปลงเกษตรเพื่อนำไปสู่การรับรองผลผลิตและบอกกับตลาดว่าผลผลิตจากแปลงเกษตรนี้ได้มาตรการพร้อมสำหรับการส่งออก
สุธี ขันทอง สหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า วิธีการทำงานจะให้ตัวสหกรณ์การเกษตรนั้นๆเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเพื่อให้งานเดินหน้าตามแผนและเป็นไปตามเป้าหมาย เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำที่จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ได้มาตรฐาน ต่อมาที่กลางน้ำจะเน้นการบริหารจัดการ การบำรุงรักษาแปลงการปลูก และปลายน้ำ คือการทำตลาดทั้งรูปแบบการแปรรูป การรวบรวมผลผลิต เพื่อให้ตรงตามความต้องการตลาดและสามารถเข้าถึงตลาดเป้าหมายได้ในที่สุด
สำหรับแผนการทำงานจากนี้ ยอมรับว่าเป็นอีกความท้าทาย ทีjจะต้องหารือกับสหกรณ์ต่างๆถึงปัญหาและอุปสรรคช่วงที่ผ่านมา แนวทางแก้ไข และแผนการพัฒนาต่อยอดจากนี้เพื่อให้ การพัฒนาการเกษตรไม่ใช่การวนอยู่กับการแก้ปัญหา แต่ต้องก้าวไปดักหน้าปัญหานั้นๆต่างหาก