อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) หรือ อาสาสมัครเกษตรที่ได้รับการคัดเลือกหมู่บ้านละ 1 คน จากที่ประชุมอาสาสมัครเกษตร โดยในภาคตะวันออก มีการคัดเลือก อกม. ดีเด่น เพื่อเป็นต้นแบบและสนับสนุนการเกษตร 4.0 ต่อไป
อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ และยังเป็นกำลังสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อยมา
หน้าที่หลักของ อกม. คือ ช่วยปฏิบัติงาน จัดเก็บรวบรวม และรายงานข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรของหมู่บ้าน จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้าน ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้และแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในหมู่บ้าน ติดตามสถานการณ์และรายงานเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนหากเกิดภัยธรรมชาติ หรือมีการแพร่ระบาดของโรคพืชและศัตรูพืช
รวมทั้งการรับฟังปัญหาจากเกษตรกรในพื้นที่ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และนำปัญหามาแจ้งแก่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อร่วมกันหาทางช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชน หรือตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอความช่วยเหลือ
ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรก็ต้องปรับตัวเช่นกัน จึงมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาสร้างความเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ ปฏิรูปเกษตร 4.0 โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน และผลักดันกลยุทธ์ การตลาดนำการผลิต
ผลจากยุทธศาสตร์ดังกล่าว ช่วยผลักดันให้ตัวเลขส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี โดย ผลไม้ เป็นสินค้าเกษตรที่ครองแชมป์ขยายตัวสูงสุดถึง 185% สร้างรายได้ 700,000 กว่าล้านบาท
และเนื่องจากแหล่งปลูกผลไม้ที่สำคัญของไทยตั้งอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออก สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จึงร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัด 9 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ส่งเสริมและพัฒนาสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน อกม. เพราะเป็นผู้รู้จักพื้นที่และมีความเข้าใจเกษตรกร รู้ปัญหาและมีขีดความสามารถในการพัฒนาภาคการเกษตรของแต่ละหมู่บ้านเป็นอย่างดี จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ตลาดผลไม้ขยายตัวต่อไปได้
จากจำนวนเกษตรกร 373,296 ครัวเรือนที่อยู่ในภาคตะวันออก มีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 5,099 คน สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จึงคัดเลือก อกม. ดีเด่น ในภาคตะวันออก เพื่อเป็นต้นแบบให้ อกม.และเกษตรกรผู้สนใจได้มีโอกาสได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการเกษตรของตนเอง เพื่อยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐานและสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ และพัฒนาการเกษตรสู่ความยั่งยืนต่อไป