"หมอธีระ" แนะสิ่งที่ควรทำในระยะยาวคือ การลงทุนทรัพยากรขยายจุดบริการตรวจมาตรฐานแบบ RT-PCR ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ให้คนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ติดกฎเกณฑ์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และลดบทบาทของ ATK ลง
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) โดยระบุว่า..
จาก 20 สิงหาคม ถึง 26 กันยายน 2564 มีการตรวจ ATK ไป 1,426,175 ครั้ง
เฉลี่ยแล้ววันละ 38,546 ครั้ง (ราว 37 วัน)
ตรวจพบผลบวกไป 100,483 (คน? or ครั้ง?)
เฉลี่ยแล้ว 7%
แต่หากดูเฉพาะวันที่ 25 กันยายน เจอผลบวก 1,714 (คน? or ครั้ง?) จาก 20,958 ครั้ง คิดเป็น 8.17%
ข้อสังเกต และข้อควรระวัง:
1. จำนวนการตรวจยังน้อย และ/หรืออาจมีการตรวจเองโดยไม่ได้เข้าสู่ระบบรายงาน ซึ่งไม่ทราบว่ามีมากน้อยเพียงใด
2. สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ความแปรปรวนของค่าทำนายการติดเชื้อหากตรวจเจอผลบวก และค่าทำนายการติดเชื้อหากตรวจเจอผลลบ ซึ่งจะแปรผันอย่างมากกับความชุกของโรคในแต่ละพื้นที่ และขึ้นกับชนิดของชุดตรวจที่ใช้ว่ามีความไว และความจำเพาะมากน้อยเพียงใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "หมอธีระ" เตือน "เปิดประเทศ" หากพลาดมาอาจเจ็บสาหัสและส่งผลกระทบยาวนาน
• หมอธีระ ห่วงพื้นที่ใกล้เคียง "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" หลังโควิดระบาดต่อเนื่อง
• "หมอยง" ตอบกลับ "หมอธีระ" ปมฉีดซิโนแวค 2 เข็มติดโควิดไม่ต้องฉีดเข็ม 3 กระตุ้น
3.ในแง่ของการประเมินสถานการณ์ ตัวเลขการตรวจเจอผลบวกจากชุดตรวจไวนั้น หากพิจารณาตามข้อจำกัดเรื่องความไว มักมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลลบปลอม คือติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบ การแปลผลสถานการณ์จึงน่าจะเซฟกว่า หากบวกเพิ่มไปอีกราว 10%
4.ดูจากตัวเลขจำนวนการตรวจจำแนกตามแต่ละจังหวัด จะพบว่าจำนวนการตรวจแกว่งมากในแต่ละวัน เฉกเช่นเดียวกับจำนวนการตรวจเจอผลบวก ซึ่งสะท้อนความเป็นไปได้ว่าเป็นผลจาก selection bias จะจากการเจาะจงตรวจในกลุ่มหรือสถานที่จำเพาะ หรือจำนวนการใช้ชุดตรวจที่มีน้อยในแต่ละพื้นที่
สิ่งที่ควรทำในระยะยาวคือ การลงทุนทรัพยากรขยายจุดบริการตรวจมาตรฐานแบบ RT-PCR ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ให้คนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ติดกฎเกณฑ์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และลดบทบาทของ ATK ลง
ยิ่งหากทิศทางนโยบายมุ่งไปทางการเปิดท่องเที่ยว เปิดเมือง เปิดประเทศ ระบบบริการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะรับมือกับการกลับมาระบาดซ้ำ
ด้วยรักและห่วงใย