เหตุการณ์ 9/11 เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การบิน ยกระดับความเข้มงวด ป้องกันเหตุผู้ก่อการร้ายยึดเครื่องบินพาณิชย์
หากย้อนกลับไปเมื่อสองศตวรรษที่แล้ว การรักษาความปลอดภัยทางการบินและท่าอากาศยานต่างๆ ไม่เข้มเหมือนอย่างในปัจจุบัน แต่แล้วหน้าประวัติศาสตร์การบินก็เปลี่ยนไปหลังจากเหตุการณ์ 9/11
แม้เหตุการณ์ 9/11 ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุโจรกรรมเครื่องบินเพื่อนำไปใช้ในการก่อการร้าย ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเกือบ 30 ปี เคยมีเหตุก่อการร้ายปาเลสไตน์โจมตีสนามบินกรุงโรมในปี 1973 ได้คร่าชีวิตผู้คนไป 34 รายและทำให้โครงสร้างความปลอดภัยทางการบินในยุโรปเปลี่ยนโฉมหน้าไป
แต่เหตุการณ์ 9/11 เปลี่ยนโฉมหน้าการบินทั้งโลก ไม่ใช่แค่ในยุโรป จากการที่ผู้ก่อการร้าย 19 คนสามารถยึดเครื่องบินพาณิชย์ 4 ลำ ใช้ในการโจมตี 2 แห่ง เป้าโจมตีแรกคือตึกเวิล์ด เทรด เซ็นเตอร์ ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก อันเป็นสัญลักษณ์ทางการเงินโลก โดยโดนโจมตีทั้งตึกเหนือและตึกใต้ เป้าหมายแห่งที่สองคือ เพ้นตากอน ตึกทรง 5 เหลี่ยมเป็นที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ อยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การมาถึงของ TSA
ก่อนหน้านี้เวลาล็อคกระเป๋าเดินทาง สามารถที่จะใช้ล็อกอะไรก็ได้ในปกป้องกระเป๋า ทำให้เมื่อเจ้าของกระเป๋าไม่อยู่จึงเกิดความยุ่งยากและความเสียหายของกระเป๋าเมื่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานต้องการที่จะตรวจสอบสิ่งที่อยู่ภายในกระเป๋า ว่ามีวัตถุมีคม หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธได้หรือไม่ รวมไปถึงของเหลวต่างๆ ที่อาจนำมาประกอบเป็นวัตถุระเบิดได้ เมื่อใช้ล็อก TSA เจ้าหน้าที่จะมีกุญแจพิเศษที่สามารถไขเปิดเพื่อเช็คสิ่งของที่อยู่ภายในได้ในทันทีเมื่อต้องสงสัยว่าภายในอาจมีวัตถุอันตราย
แต่ TSA ไม่ใช่แค่ล็อก แต่ย่อมาจาก Transportation Security Administration: TSA หน่วยงานความมั่นคงด้านการขนส่ง ถูกเสนอขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน 2001 หรือ 2 เดือนให้หลังเหตุการณ์ 9/11 และก่อตั้งสำเร็จในอีกหนึ่งปีต่อมา โดยเข้ารับหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางการบินทั้งหมดจากบริหารการบินของรัฐบาลกลาง (Federal Aviation Administration: FAA)
การตรวจคัดกรองความปลอดภัย
ก่อนขึ้นเครื่องทุกคนจะต้องได้รับการตรวจสแกนสิ่งของที่อยู่ภายในกระเป๋าทั้งหมด โดยที่ก่อนหน้านี้ ใบมีดโกน มีดพับอเนกประสงค์ กรรไกร หรือแม้แต่เข็ม สามารถนำขึ้นเครื่องได้ แต่จากการที่ผู้ก่อการร้ายนำของมีคมเหล่านี้ขึ้นมาเป็นอาวุธในการจี้เครื่องบิน รวมไปถึงของเหลวต่างๆ ต้องถูกบรรจุแยกไม่เกิน 100 มิลลิลิตร ใส่รวมไว้ในถุงพลาสติกใส รวมกันแล้วไม่เกิน 1 ลิตร
ปัจจุบันยังหลังจากการมาถึงของสมาร์ทโฟน โดยทั่วไปมักมีการพกพาวเวอร์แบงก์ หรือแบตสำรองด้วย เนื่องจากสมาร์ทโฟนนั้นค่อนข้างกินพลังงานมากและอาจแบตหมดได้ ด้วยการป้องกันไม่ให้นำแบตสำรองเหล่านี้มาประกอบเป็นวัตถุระเบิด จึงได้กำหนดให้นำพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 32,000 mAh และห้ามโหลดใต้ท้องเครื่องทุกกรณีเนื่องจากไม่ได้มีการปรับแรงดันอาจทำให้พาวเวอร์แบงก์ระเบิดได้
ตรวจสอบบัตรประจำตัว
ทุกคนต้องได้รับการยืนยันตัวตนจากบัตรประจำตัวที่หน่วยงานราชการออกให้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน หรือ ใบขับขี่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยืนยันได้ตลอดเวลาว่ารายละเอียดตรงกันกับบอร์ดดิ้งพาส โดยที่ปัจจุบันนี้จะมีการตรวจสอบอย่างน้อยประมาณ 4 รอบ คือ ตอนเช็คอินกับทางสายการบินที่เคาท์เตอร์ ก่อนเข้าไปข้างในเกท จะต้องผ่านจุดตรวจสอบความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่สนามบิน โดยจุดนี้จะมีการสแกนสัมภาระที่ไม่โหลดใต้ท้องเครื่องด้วย เรียกได้ว่าเป็นจุดที่ตรวจสอบเข้มงวดที่สุด จากนั้นจะถูกตรวจบริเวณหน้าประตู (เกท) ตอนสายการบินเรียกขึ้นเครื่อง (ออนบอร์ด) และสุดท้ายบนเครื่องบิน จะมีพนักงานสายการบินตรวจอีกครั้งหลังเข้าไปในเครื่องบินแล้ว
ทั่วโลก เข้มงวดมากขึ้นกับการตรวจสอบตัวตน การคัดกรองความปลอดภัยอย่างมาก และมีการจัดตั้งรายการ No Fly List หรือรายชื่อที่ไม่อนุญาตให้ขึ้น-ลงเครื่องบินพาณิชย์ต่างๆ ในรูปแบบของตนเอง ในปี 2002 สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบที่เรียกร้องให้สายการบินยืนยันว่าผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่องบินเป็นบุคคลเดียวกันกับที่เช็คอินในกระเป๋าเดินทาง ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบบัตรประจำตัวทั้งที่จุดเช็คอินสัมภาระและเมื่อขึ้นเครื่อง ต่อมาในทศวรรษที่ผ่านมา มีการเปิดตัวรหัสลายนิ้วมือและการสแกนม่านตาและม่านตาในบางประเทศ
ความปลอดภัยบนเครื่องบิน
เมื่อก่อนการเข้าไปในห้องนักบินบนเครื่องบินนั้นง่ายมาก ไม่ต่างจากประตูทั่วไป แต่ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ห้องนักบินที่สามารถป้องกันกระสุนและปิดตายเปิดได้จากเฉพาะภายในกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับเครื่องบินพาณิชย์ทุกลำบนโลกนี้ เรียกได้ว่าเป็นห้องที่ปลอดภัยที่สุดบนเครื่องบินก็ว่าได้
นอกจากนี้ก่อนหน้านี้คนที่ชื่นชอบหรือใฝฝันว่าอยากจะเป็นนักบิน สามารถขอเข้าไปเยี่ยมชมภายในห้องนักบินได้ แต่ปัจจุบันนี้ห้องนักบินไม่เปิดรับให้ผู้คนเข้าไปเยือนได้อีก กลายเป็นอีกหนึ่งความลับที่ยิ่งใหญ่เพื่อปกป้องความปลอดภัยให้แก่นักบิน