กระทรวงสาธารณสุข เตรียมนำเข้า "ยาโมลนูพิราเวียร์" ยารักษาโควิด-19 ตัวใหม่ หากผลวิจัยสำเร็จ และขึ้นทะเบียนถูกต้อง คาดนำเข้าได้ภายในปี 2564
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมนำเข้ายารักษาโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มียาหลายตัวที่ต่างประเทศกำลังวิจัยในระยะที่ 3 เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท MSD ยาโปรตีเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitor) ของไฟเซอร์ คาดว่า จะรู้ผลวิจัยช่วงกันยายน-พฤศจิกายนนี้
สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่จะเป็นยาตัวแรก ที่จะใช้รักษาเฉพาะโรคโควิด-19 นั้น หากผลวิจัยสำเร็จในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ บริษัทผู้ผลิต วางแผนจะขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ในเดือน ต.ค.2564 ส่วนประเทศไทยคาดว่า
จะมีการขึ้นเทียบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในเดือน พ.ย.นี้ และจะมีการสั่งนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งยาตัวนี้จะนำมาใช้แทน "ยาฟาวิพิราเวียร์" เนื่องจากกลไกการทำงานเหมือนกัน สามารถยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ จะเฉพาะเจาะจงกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 โดยจะใช้ 40 เม็ด 5 วัน ต่อผู้ป่วย 1 คน ที่มีอาการน้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ยารักษาโควิด 2 ชนิด ฟาวิพิราเวียร์ vs เรมเดซิเวียร์ ต่างกันยังไง?
• Antibody cocktail ทางเลือกใหม่ รักษาโควิด19
• ข่าวปลอม 6 ชนิดยา ที่ต้องเตรียมไว้รักษาโควิด 19 กรณีขอ Home-Isolation
กรณีการใช้ยาไอเวอร์เม็กติน รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) และงานวิจัยในต่างประเทศไม่แนะนำให้ใช้ ส่วนการวิจัยในไทย โรงพยาบาลศิริราชกำลังดำเนินการ คาดว่า จะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้
สำหรับยา Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ออกฤทธิ์ต้านไวรัส พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ จากการศึกษาพบว่า มีฤทธิ์ต่อต้านไวรัสโคโรนาหลายชนิด เช่น ซาร์ เมอร์ส และโควิด-19
ปัจจุบัน โมลนูพิราเวียร์ มีสถานะเป็นยาต้านไวรัสทดลอง อยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 และอยู่ระหว่างการพิจารณา
ให้การรับรองขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration)
หลังจากนี้ หากผลการศึกษาพบว่า ยามีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสในการเสียชีวิตมีโอกาสได้รับการรับรองให้ใช้เป็นยาฉุกเฉิน สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 การยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ร่วมกับมาตรการป้องกันตนเองแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)