เทียบสถานการณ์ล็อกดาวน์ในประเทศไทย เมื่อปีที่แล้ว ปี 2563 กับ ล็อกดาวน์ในครั้งล่าสุดที่ไม่ประกาศคำว่า ล็อกดาวน์ และมาตรการผ่อนคลายที่เป็นการ ปรับมาตรการ นำไปสู่ Smart Control and Living with Covid-19
การล็อกดาวน์ในประเทศไทยเกิดขึ้นจริงเพียงครั้งเดียว คือเมื่อตลอดเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งถูกเรียกว่า 'ล็อกดาวน์ 63' โดยมีคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. และบริการที่ไม่จำเป็นถูกสั่งปิด อาทิ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเสริมความงาม/ตัดผม สถานศึกษา ศูนย์แสดงสินค้า รวมไปถึง ตลาดและร้านสะดวกซื้อ เปิดเฉพาะแค่ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายยา
ซึ่งประกาศล็อกดาวน์ในวันที่ 24 มี.ค. 63 วันนั้นประเทศไทยมียอดติดเชื้อโควิด19 สะสมทั่วประเทศแล้วกว่า 827 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 106 ราย และคำสั่งมีผลในวันที่ 26 มี.ค. 63 สองวันให้หลังจากประกาศด้วยยอดติดรายวัน 111 ราย แต่ถึงอย่างไรก็ผ่านวันที่ติดเชื้อสูงสุดในระลอกที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 63 ด้วยยอดติดเชื้อรายวัน 188 ราย
วันที่ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เกิดขึ้น 1 เดือนให้หลังจากมีคำสั่งล็อกดาวน์ โดยตลอดเดือนเมษายนทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี ในวันที่ 30 เม.ย. 63 ยอดติดเชื้อรายวันเหลือเพียงเลขหลักเดียว 7 รายเพียงเท่านั้น และมีผลในวันที่ 3 พ.ค. 63 ติดเชื้อใหม่ 3 ราย
จะเห็นได้ว่ายอดติดเชื้อใหม่ 111 รายในวันที่ล็อกดาวน์ ถึงวันที่ผ่อนคลายมาตรการเหลือผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 3 ราย ยอดติดเชื้อรายวันลดลงกว่า 97.3%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หลังจากนั้นมาตรการผ่อนคลายแต่ละระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 5 ตามมาในทุกๆ 2 สัปดาห์ หรือ 14 วันโดยประมาณ
ประกาศเคอร์ฟิว มีความเปลี่ยนแปลงในมาตรการผ่อนคลาย ระยะที่ 2 , 3 และ 4 โดย ปรับเวลาจาก 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.00 น. , 23.00-03.00 น. และ ยกเลิก ตามลำดับ
'ล็อกดาวน์ 64'
มาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ มีความคล้ายคลึงกับ 'ล็อกดาวน์ 63' คือปิดบริการที่ไม่จำเป็นทั้งหมด รวมไปถึงเคอร์ฟิว แต่ในคราวนี้แตกต่างตรงที่บริษัทเอกชนทั้งหลายไม่ได้ให้พนักงานทำงานจากข้างนอกเข้ามา (Work From Home) ไม่เหมือนกับเมื่อปีที่แล้ว ตลาดยังคงเปิดอยู่ และเคอร์ฟิวที่ขยับเร็วขึ้นมาอีก 1 ชั่วโมง เป็น 21.00 น. ถึง 04.00 น.
'ล็อกดาวน์ 64' มีคำสั่งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 64 ซึ่งมียอดติดเชื้อใหม่กว่า 9,276 ราย ยอดติดเชื้อสะสมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 317,506 ราย มีผลในวันที่ 12 ก.ค. 64 ซึ่งติดเชื้อใหม่ 8,656 ราย และในวันที่ 1 ส.ค. 64 ได้มีคำสั่งต่อมาตรการอีก 1 เดือน ซึ่ง ณ วันนั้นยอดติดเชื้อสูงกว่าวันที่เริ่มล็อกดาวน์ ด้วยยอดติดเชื้อรายวันกว่า 18,027 ราย ยอดสะสม 615,314 ราย
ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ล็อกดาวน์ไป ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด19 ในประเทศไทยดีขึ้นแต่อย่างไร ยอดติดเชื้อรายวันเพิ่มและยอดติดเชื้อสะสมต่างขึ้นมาเป็น 2 เท่า
แม้จะต่อมาตรการล็อกดาวน์มาอีก 1 เดือน ในวันที่ 29 ส.ค. 64 มีประกาศมาตรการคลายล็อก ยอดติดเชื้อรายวัน 15,972 ราย ยอดติดเชื้อสะสมกว่า 1,161,200 ราย จึงเกิดเป็นคำถามจากสังคมว่า "สถานการณ์ดีขึ้นแล้วจริงหรือ ?" เพราะยอดติดเชื้อลดลงเพียง 11.4%
เพจเฟซบุ๊ก Dr.Review ตั้งคำถามกับการ 'ผ่อนคลายมาตรการ' ว่าเหตุใดในวันที่ 1 ส.ค. 64 ที่ต่อมาตรการล็อกดาวน์ ในวันนั้นแม้จะมียอดติดเชื้อรายวัน 18,027 ราย แต่ยอดตรวจเชิงรุกกว่า 12,000 ราย พบติดเชื้อราว 2,900 ราย เท่ากับว่าพบติดเชื้อโควิดเพียง 24% แต่ในช่วงที่พิจารณาผ่อนคลายมาตรการอย่างในวันที่ 27 ส.ค. 64 ยอดติดเชื้อใหม่ 18,702 รายไม่ได้น้อยกว่าตอนที่ต่อมาตรการแต่อย่างใด ทว่ายอดตรวจเชิงรุกลดลงเหลือเพียง 5,100 ราย และพบผู้ติดเชื้อกว่า 4,700 ราย นั่นเท่ากับ 92% ของการตรวจเชิงรุกเลยมิใช่หรือ
และยิ่งเห็นได้ชัดว่า เมื่อยอดติดเชื้อใหม่ในวันที่ล็อกดาวน์มีผล วันที่ 12 ก.ค. 64 อยู่ที่ 8,656 ราย แต่วันที่ 29 ส.ค. 64 ประกาศคลายล็อกยอดติดเชื้อ 15,972 ราย ไม่ได้ลดลงเหมือนตอน 'ล็อกดาวน์ 63' แต่กลับเพิ่มมากกว่าเดิมถึง 84.52%
แม้ว่าวันที่ 30 ส.ค. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ออกมาอธิบายถึงมาตรการผ่อนคลาย โดยระบุว่า "ในที่ประชุมของ ศบค. จะไม่ใช่คำว่า 'ปลดล็อก' และก็ไม่ใช่คำว่า 'ผ่อนคลาย' ด้วย แต่เป็นการปรับมาตรการ เราใช้มาตรการ 'Smart Control and Living with Covid-19' ซึ่งทั่วโลก ล้วนปรับมาตรการเผชิญหน้าโควิด19 ในลักษณะแบบนี้ เพราะฉะนั้นการจะตรึงมาตรการที่เข้มงวด มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ทำสำเร็จ"