โควิดเดลต้าระบาดหนักในอิสราเอล แม้ฉีดวัคซีน mRNA ของ ไฟเซอร์ ชี้ วัคซีนมีประสิทธิภาพถดถอย ภูมิคุ้มกันตกไว
อิสราเอล ประเทศฉีดวัคซีนมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จนถูกหยิบยกเป็นกรณีตัวอย่างในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด19 รวมไปถึงแผนการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยอิสราเอลมีผู้ป่วยโควิด19 รายแรกของประเทศในวันที่ 21 ก.พ. 63 และผ่านการระบาดระลอกแรกไปในช่วงเดือนตุลาคม
แน่นอนว่าระหว่างนั้นอิสราเอลไม่ได้นิ่งนอนใจรีบจัดหาวัคซีนให้กับประเทศ โดยอิสราเอลเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไปตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว และได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงต้นของการระบาดระลอกที่ 2 ของประเทศ
หลังจากนั้นอิสราเอลใช้เวลา 3 เดือนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 ประกอบกับการระดมฉีดวัคซีนจำนวนมาก จนยอดฉีดรวมสูงกว่า 50% หลังจากนั้นประเทศก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมีการติดเชื้อที่ต่ำ แต่แน่นอนว่าเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปไวเสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การกลับมาของโควิดระลอกที่ 3
อิสราเอล ประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 50% ของประชากร โดยวัคซีนที่ใช้เป็นวัคซีน mRNA จาก ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค แต่สัญญานการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 เริ่มแสดงให้เห็นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน และมาเด่นชัดในต้นเดือนกรกฎาคม
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 อิสราเอล ประกาศว่าวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินตัวแรกของโลก มีประสิทธิภาพกว่า 95% กลับมีประสิทธิภาพลดลงในระหว่างการใช้งานจริงเหลือเพียง 64% เท่านั้นแม้ฉีดครบสองโดสแล้วก็ตาม
สิ่งนี้จะเห็นได้ว่าจากวันที่ 19 ธ.ค. 63 ที่อิสราเอลได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก จนถึงประมาณกลางเดือนมีนาคม 64 หลังจากที่ประเทศฉีดวัคซีนเกินกว่า 50% ไปแล้ว เริ่มมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ชะลอตัว จากวันที่ 15 มี.ค. 64 อิสราเอลที่ฉีดวัคซีนได้ 58.98% ของประชากรทั้งประเทศ จวบจนถึงปัจจุบัน (25 ส.ค. 64) อิสราเอลฉีดวัคซีนได้ 68.43% ระยะเวลากว่า 5 เดือน ฉีดวัคซีนเพิ่มได้ไม่ถึง 10% เทียบกับช่วงแรกเพียง 3 เดือน ฉีดได้เกือบ 60%
เรียกได้ว่าใน 3 เดือนแรกของอิสราเอล เดินหน้าฉีดวัคซีนไป 85% ของจำนวนวัคซีนที่ฉีดได้ทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่อิสราเอลประกาศว่า "วัคซีนไฟเซอร์ เหลือประสิทธิภาพเพียง 64%" ให้หลังเพียงเดือนครึ่ง กลับออกมาประกาศใหม่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ว่า "วัคซีนไฟเซอร์ เหลือประสิทธิภาพเพียง 39%"
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ แม้ตอนแรกจะขึ้นได้สูงที่สุด 95% แต่ผ่านไปยังไม่ถึงครึ่งปี กลับตกลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 39% เพียงเท่านั้น
ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด19 ในอิสราเอลครั้งนี้ เป็นโควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่แม้ว่าจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้ครบสองโดสแล้วก็ยังติดเชื้อได้ และอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งรวมไปถึงมีอาการรุนแรงเช่นกัน ใช่ว่าอาการจะไม่สาหัส
โดยปัจจุบันอิสราเอล มีผู้ป่วยหนักราว 600-700 รายที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบแล้วสองโดส จากการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้ได้รับวัคซีนไปตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และอาจมีอาการป่วยเรื้อรังที่ทำให้อาการของโควิด19 รุนแรงยิ่งขึ้น
วันนี้ (26 ส.ค. 64) กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลรายงานยอดผู้ป่วยโควิด19 สะสมทั่วประเทศกว่า 1,024,100 ราย อยู่อันดับที่ 35 ของโลก และยอดเสียชีวิตสะสม 6,909 ราย จากประเทศที่มีประชากรราว 9.3 ล้านคน และฉีดวัคซีนมากกว่า 13 ล้านโดส