นิวซีแลนด์ ประเทศโมเดลโลก ในการจัดการควบคุมโควิด19 สั่งล็อกดาวน์ได้อย่างฉับพลันแบบนี้ มีการเตรียมตัว เตรียมการกันอย่างไร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศที่มีการจัดการโควิด19 ดีเยี่ยมอย่างนิวซีแลนด์เพิ่งประกาศล็อกดาวน์รอบที่ 3 จากการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเพียงรายเดียวในประเทศ
โดยสั่งล็อกดาวน์ ระดับที่เข้มงวดที่สุดระดับ 4 คือทุกคนห้ามออกจากบ้าน ทุกอย่างถูกปิดหมด ยกเว้นซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยา เป็นระยะเวลา 3 วัน จากนั้นได้ยืดระยะเวลาออกเป็น 7 วัน หลังจากที่ประกาศ ในวันที่ 24 ส.ค. ประชาชนนิวซีแลนด์จะได้รู้ว่า ยังคงอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์ต่อ หรือจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการสู่ระดับ 3
'ล็อกดาวน์' ของนิวซีแลนด์
การล็อกดาวน์ของนิวซีแลนด์ เรียกว่า Stage of ALERT ซึ่งแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ระดับด้วยกัน
ล็อกดาวน์ ระดับ 1
ล็อกดาวน์ ระดับ 2
ล็อกดาวน์ ระดับ 3
ล็อกดาวน์ ระดับ 4
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดยทาง SPRiNG ได้ติดต่อสัมภาษณ์คนไทยที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ ว่าประเทศที่มีการควบคุมโควิด19 จนเป็นโมเดลโลก สั่งล็อกดาวน์ได้อย่างฉับพลันแบบนี้ มีการเตรียมตัว เตรียมการกันอย่างไร
คุณอัญมณี เต็มกุลเกียรติ คนไทยที่อาศัยอยู่ในโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ที่นิวซีแลนด์มีการแพร่ระบาดของโควิด19 เป็นต้นมา ก็ได้มีการประกาศ Stage of Alert ที่แบ่งเป็น 4 ระดับ โดยถ้าจะให้เรียกว่าล็อกดาวน์ ก็คือระดับที่ 4 ที่เข้มงวดสุด รวมไปถึงระดับ 3 ที่เข้มงวดรองลงมา ตั้งแต่แต่ระดับ 2 ลงมา ไม่เป็นการล็อกดาวน์แล้ว เป็นการผ่อนคลายมาตรการ ในระดับที่ 1 เรียกได้ว่าใช้ชีวิตตามปกติ เพียงแต่มีส่วนที่ร้านค้าต่างๆ จะต้องระมัดระวังเรื่องโควิด19 ตามรูปแบบ New Normal และไม่เคยกลับไปใช้ชีวิต ในระดับ 0 อีกเลย
การประกาศล็อกดาวน์ในนิวซีแลนด์เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเหมือนประเทศไทย เพราะว่านิวซีแลนด์มีประชากรที่น้อยกว่า และทุกคนมีชื่อและอาชีพที่อยู่ในระบบทั้งหมด ไม่มีอาชีพที่สลับซับซ้อน อย่างพวกอาชีพอิสระ ทำให้รัฐบาลสามารถติดตามได้หมด และจ่ายเงินเยียวยาได้ครบทุกคน
อย่างประเทศไทยที่มีอาชีพอิสระเยอะ หาเช้ากินค่ำ และหลายคนหาซื้ออาหารใส่ห่อกลับมากิน แต่คนที่นิวซีแลนด์ออกไปซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตมาทำกินเอง วัตถุดิบหลายอย่างถูกแช่แข็งมา เป็น Frozen Foods ทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บและมีอายุที่ยืนยาว ออกไปซื้อเป็นรอบๆ ไม่ต้องหาซื้อทุกวัน
และที่สำคัญคนนิวซีแลนด์กลัวติดโควิด19 มากกว่า เนื่องจากทุกคนทราบดีว่าระบบสาธารณสุขของประเทศมีจำกัด ทำให้ทุกคนปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
นิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่มีภัยพิบัติอยู่แล้ว และที่ผ่านมาทุกคนฟังภาครัฐตลอด อาศัยกันอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยการที่ทุกคนเปิดดูข่าวภาครัฐจากทางโทรทัศน์ซึ่งถือเป็นสื่อหลักของประเทศ เมื่อทุกคนเปิดโทรทัศน์ดู ข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้จะมีสื่อออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ แต่ก็เป็นทวิตเตอร์ของภาครัฐ ทำให้ข่าวไม่สะเปะสะปะ
ประกอบกับ รัฐบาลมีความชัดเจนสูง อย่างการแถลงข่าว ภาครัฐจะพูดตรงไปตรงมา ว่าประเทศจะทำอะไรต่อไป ทำอย่างไร ทำไปเพื่ออะไร และอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำได้ แจ้งหมด ไล่ลำดับเป็นขั้นเป็นตอน สั้น กระชับ ได้ใจความ และแถลงทุก 7 วัน หรือ ประจำสัปดาห์นั่นเอง
โดยจะมี จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีเปิดการแถลงก่อน หากเป็นมาตรการใหญ่ อย่างการล็อกดาวน์ หรือเริ่มผ่อนคลายมาตรการ แล้วตามด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข หรือ แพทย์ที่ปรึกษามารับช่วงต่อ
นอกจากนี้ ภาครัฐยังสื่อสารตลอดมา ในช่วงที่ล็อกดาวน์ระดับ 1 หรือระดับ 2 จะคอยเตือนถึงมาตรการควบคุมโควิด19 แบบ New Normal ตลอด เปิดโทรทัศน์ เปิดโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็จะเห็นการโฆษณาของภาครัฐตลอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นอกจากนี้ SPRiNG ยังได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร อาจารย์อาวุโสด้านการวิเคราะห์สถิติ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโอ๊คแลนด์ ซึ่งได้เผยมุมมองที่น่าสนใจถึงคำว่า 'ด่านหน้า' ของนิวซีแลนด์ ให้ฟังว่า 'ด่านหน้า' ของนิวซีแลนด์ ไม่ใช่แพทย์ พยาบาล หรือ บุคลากรทางการแพทย์
แต่เป็น นักบิน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และพนักงานสนามบิน ที่มีหน้าที่ต้องเผชิญหรือสัมผัสกับชาวต่างหรือคนที่เดินทางเข้าประเทศ เพราะบุคคลเหล่านี้โอกาสเสี่ยงโควิด19 สูงมากกว่า จึงได้ฉีดวัคซีนก่อน
เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เป็นเกาะ ทำให้ง่ายต่อการควบคุมคนเข้าเมือง เพราะเข้าประเทศได้จากทางเครื่องบินหรือเรือเพียงเท่านั้น ไม่มีช่องทางธรรมชาติอื่นที่จะมีคนลักลอบเข้ามาได้ง่ายๆ เหมือนประเทศไทย
ประกอบกับนิวซีแลนด์ มีวัฒนธรรมการทำงานแบบ Go Hard and early หรือ ไปให้สุดตั้งแต่ต้น จึงมีการปิดพรมแดนตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ไม่มีคนต่างชาติที่ถือวีซ่าแบบชั่วคราวเดินทางเข้าประเทศมากกว่า 100 วัน เข้ามาได้เฉพาะชาวนิวซีแลนด์ หรือผู้ที่อยู่อาศัยในนิวซีแลนด์เท่านั้น นโยบายและมาตรการดังกล่าวทำให้นิวซีแลนด์ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศก่อนการระบาดระลอกล่าสุดมากกว่า 100 วัน
และที่ผ่านมาการล็อกดาวน์ของนิวซีแลนด์ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะจากการที่ทุกคนมีชื่ออยู่ในระบบ ทางภาครัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับทางบริษัทก่อน แล้วให้บริษัทไปกระจายเงินเยียวยากับพนักงานต่ออีกที และไม่ต้องกังวลว่าบริษัทจะยักยอกเงินเยียวยา เนื่องจากว่ากฎหมายมีบทลงโทษหนัก
แต่ไม่ใช่การล็อกดาวน์จะไร้ปัญหาเสียทีเดียว มีคนประท้วงไม่แตกต่างจากประเทศไทย เพียงแต่ใครที่ออกไปประท้วงตามท้องถนน จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมแล้วดำเนินคดีตามกฎหมาย
จุดที่น่าเป็นกังวลคือการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าของนิวซีแลนด์ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า นิวซีแลนด์ฉีดวัคซีนให้กับด่านหน้าที่เป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับสนามบิน ท่าเรือก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มฉีดให้แพทย์ กลุ่มเสี่ยงที่ป่วยโรคเรือรัง บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แล้วก็ไล่ลงมาเรื่อยๆ ช่วงละ 10 ปี คือ 51-60 ปี 41-50 ปี ซึ่งล่าสุดทางการนิวซีแลนด์เพิ่งอนุมัติให้ฉีดในเด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไปได้
แม้การฉีดวัคซีนจะเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ทุกคนมีสิทธิ์ได้ฉีดหมด โดยทุกคนจะมีชื่ออยู่ในระบบ สามารถไปลงทะเบียนฉีดวัคซีนในเว็บที่ภาครัฐจัดไว้ให้ มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น จากนั้นเข้าไปดูว่าบ้านอยู่ในเขตไหน มีศูนย์ฉีดวัคซีนใดที่รองรับเลขที่บ้าน และทำการเลือกศูนย์ฉีดวัคซีน ปัจจุบันทางการนิวซีแลนด์เพิ่งเปิดให้คนอายุ 41-50 ปี เริ่มฉีดวัคซีนได้ ใครที่อายุต่ำกว่า 41 ปีลงไป ต้องรอรอบของตัวเอง แม้จะอยู่บ้านเดียวกัน
ตอนนี้นิวซีแลนด์เริ่มมีการพูดถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือ บูสเตอร์โดส ให้แก่ 'ด่านหน้า' แล้ว และฉีดเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์เพียงเท่านั้น