"หมอธีระ" เผยข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย พบเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 34% ในสัปดาห์นี้ ชี้การระบาดยังคงวิกฤต
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยติดเพิ่ม 146,521 คน ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 1% (สัปดาห์ก่อนหน้านั้นติดไป 148,505 คน) แต่จำนวนการเสียชีวิตนั้นมีถึง 1,700 คน สูงกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 34% (สัปดาห์ก่อนหน้านั้นเสียชีวิตไป 1,272 คน)
อย่างไรก็ตาม การดูตัวเลขรายงานเป็นทางการดังกล่าวนั้นต้องดูอย่างมีวิจารณญาณ และตระหนักว่าโดยแท้จริงแล้วมีคนที่ใช้วิธีการตรวจแบบ Antigen test kit (ATK) อีกจำนวนไม่น้อย ที่ได้ผลบวก และเข้าสู่การระบบการดูแลรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน home isolation ซึ่งจำนวนเหล่านั้นไม่ได้นำมารวมในรายงานอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจำนวนการติดเชื้อรายสัปดาห์ที่แท้จริงจึงมากกว่าที่รายงานอย่างเป็นทางการ และอาจมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าได้ ดังที่เห็นในรูปประกอบ ซึ่งนำจำนวนคนที่ตรวจผลบวกจาก ATK ในเดือนสิงหาคมมารวม จะพบว่าสถานการณ์การระบาดของไทยยังวิกฤต
อนึ่ง การตรวจ ATK นั้น สิ่งที่เราควรระวังคือ ผลลบปลอม เพราะมีค่าความไวไม่สูงมาก แปลว่าติดเชื้อแต่ตรวจแล้วได้ผลลบ อาจเข้าใจผิดว่าไม่ติดเชื้อทั้งๆ ที่ติดเชื้อ และหากไม่ป้องกันตัวให้ดีก็จะแพร่ไปให้คนในบ้าน หรือคนอื่นๆ ในสังคมได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "หมอธีระ" ชี้ยอดเสียชีวิตจากโควิดของไทย สะท้อนระบบสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ
• "หมอธีระ" ชี้วัคซีนที่ควรนำมาใช้ต่อสู้ ต้องผ่านขั้นตอนพิสูจน์มาตรฐานสากล
• "หมอธีระ" ชี้หากเปิดประเทศ-ท่องเที่ยว อาจเกิดการแพร่ระบาดอย่างลุกลาม
ส่วนเรื่องผลบวกปลอมนั้น เกิดได้ แต่น้อยกว่าผลลบปลอม เพราะมีค่าความจำเพาะสูง เมื่อมีการนำ ATK มาใช้ในสถานการณ์ระบาดหนักแบบปัจจุบัน หากตรวจพบว่าเป็นผลบวกแล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อจริงมีสูงมาก
การต่อสู้ในสถานการณ์การระบาดนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความพยายามที่จะต้องรวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วน ไม่ให้หลุด และเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด เพราะจะส่งผลต่อการประเมิน เพื่อวางแผนนโยบายและมาตรการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ตระหนักว่าการระบาดรุนแรง กระจายไปทั่ว ยังควบคุมตัดวงจรการระบาดไม่ได้
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก
เตรียมตัว เตรียมงาน เตรียมสถานที่ เตรียมข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์จำเป็นภายในบ้านไว้เผื่อยามจำเป็น และเตรียมใจเพื่อสู้กับศึกโรคระบาดระยะยาว และที่สำคัญมากตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี การวางแผนการเงินและการใช้จ่ายเป็นสิ่งจำเป็นมาก