รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสัปดาห์หน้าประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม ทะลุ 1 ล้านคน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า
วิเคราะห์สถานการณ์ไทยเรา
คาดว่าอีกราว 4-5 วัน จะมียอดติดเชื้อสะสมแซงอิสราเอลขึ้นเป็นอันดับที่ 34 ของโลก
และจะมียอดติดเชื้อเกิน 1,000,000 คนในสัปดาห์หน้า
สิงหาคมปีนี้ ต่างจากสิงหาคมปีที่แล้วราวฟ้ากับเหว
สิงหาคมปี 2020 ไม่มีคนเสียชีวิตเพิ่มเลย ในขณะที่ปี 2021 เพียงครึ่งเดือน เสียชีวิตไปแล้วกว่าสองพันคน
เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากนโยบายและมาตรการในการจัดการควบคุมป้องกันโรคที่ต่างกัน และจากนโยบายและมาตรการจัดการเรื่องวัคซีน ที่ทำให้ต่างจากผลลัพธ์ที่เห็นในประเทศอื่นๆ ที่ควบคุมการระบาดได้ดีและใช้วัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ประชาชนจะต้องเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากวงนโยบายและวงวิชาการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องความเจ็บป่วย ชีวิตที่สูญเสีย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และต่อเศรษฐกิจและสังคมมากมาย
ตบท้ายวันสุดสัปดาห์ด้วยการอัพเดตความรู้จากงานวิจัยที่น่าสนใจจากทั่วโลก
หนึ่ง "ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หากมีระดับเม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์น้อยกว่า 250 ตัวต่อซีซี อาจมีระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด (แอนติบอดี้) หลังฉีดวัคซีน mRNA เข็มแรกต่ำกว่าคนปกติได้"
Nault L และคณะได้ทำการศึกษาในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี 106 คน เปรียบเทียบกับบุคลากรทางการแพทย์ 20 คนที่ไม่ได้ติดเชื้อ ที่มอนทรีอัล ประเทศแคนาดา โดยตรวจระดับแอนติบอดี้ตอนเริ่มต้น และหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกไป 3-4 สัปดาห์ ทั้งนี้คนที่สูงอายุ จะมีแนวโน้มที่มีระดับแอนติบอดี้ต่ำลงด้วย
จากการศึกษานี้คงจำเป็นต้องมีการติดตามผลจากการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ว่าจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มากขึ้นได้เพียงใด นานเท่าใด จะต้องมีเข็มกระตุ้นหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องไม่ประมาท โดยควรมีการป้องกันตัวหลังฉีดวัคซีนอย่างเคร่งครัด
สอง "ล็อกดาวน์จิ๊บๆ แบบซ้ำๆ จะทำให้คนรู้สึกโดดเดี่ยวและขาดสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "หมอธีระ" เผยข้อมูลอัพเดทจากองค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์
• หมอธีระ ชี้ ถ้ามีการเมือง-นโยบาย-วิชาการ ที่ดี ย่อมพาสังคมผ่านพ้นวิกฤตได้
• "หมอธีระ" แนะรัฐใช้มาตรการเข้มคุมโควิด ล็อกดาวน์ทั้งประเทศเป็นสิ่งจำเป็น
Yamamoto T และคณะ ศึกษาในประชากรที่ญี่ปุ่นจำนวน 7,893 คน ติดตามข้อมูลในเดือนพฤษภาคม 2020 และกุมภาพันธ์ 2021 พบว่าการล็อคดาวน์แบบอ่อนๆ แต่ทำซ้ำๆ ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาเรื่องความรู้สึกโดดเดี่ยว และขาดสังคมของประชากรมากขึ้น และพบว่าการล็อคดาวน์ส่งผลต่ออาการทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เสี่ยง อาทิ กลุ่มคนอายุ 18-49 ปี ประชากรเพศหญิง ประชากรที่ยากจน
ผลการศึกษาดังกล่าว มีประโยชน์สำหรับแต่ละประเทศรวมถึงไทยเรา ทำให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หากตัดสินใจแบบเหนียมๆ เจ็บแต่ไม่มีทางจบ ยืดเยื้อเรื้อรังยาวนาน จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ในขณะที่บางประเทศอย่างนิวซีแลนด์ จะตัดสินใจล็อคดาวน์อย่างจริงจังและรวดเร็ว ปูพรมตรวจ แยกกักตัวและนำเข้าสู่ระบบดูแลรักษา แต่จบได้ระยะสั้น จึงเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างจากที่เราเป็นอยู่
สาม "สายพันธุ์เดลต้าระบาดในเมือง Guangdong พบว่าแพร่เชื้อให้แก่กันในช่วงก่อนจะเกิดอาการถึง 73.9%"
Kang M และคณะ จากจีน ศึกษาลักษณะการแพร่เชื้อติดเชื้อในผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 167 คน ระหว่างพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2021
พบว่ามีระยะเวลาฟักตัว (ช่วงเวลาที่ติดเชื้อจนถึงเริ่มมีอาการ) ประมาณ 5.8 วัน โดยเฉลี่ยแล้ว 73.9% (67.2-81.3%) ของผู้ติดเชื้อน่าจะเกิดจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก่อนที่จะมีอาการ
ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ ทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างจากคนอื่นๆ พบคนให้น้อยลงสั้นลง
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้มีกำลังใจ ป้องกันตนเองและครอบครัวอย่าให้ติดเชื้อ หมั่นสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากมีอาการคล้ายหวัด ให้นึกถึงเรื่องโควิด-19 เสมอ รีบแยกตัวออกจากคนในครอบครัว และหาทางตรวจคัดกรองโรค
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก
ด้วยรักและห่วงใย
สวัสดีวันอาทิตย์ครับ